Skip to main content

osteoarthritis

เข่าเสื่อม ไม่อยากผ่า ต้องอ่าน!!
Posted: July 13, 2021 By: adminrehabcare2 Categories:  Comment:  0

“ข้อเข่าเสื่อม” คือภาวะที่กระดูกอ่อนที่ทำหน้าที่ดูดซับแรงกระแทกภายในข้อเข่าเกิดการสึกหรอและเสื่อมสภาพลง เมื่อผิวของกระดูกอ่อนเสียหายและบางลงเรื่อยๆ กระดูกข้อเข่าทั้งสองจะเสียดสีกันเอง ทำให้รู้สึกปวดเสียวในข้อขณะที่เดินลงน้ำหนักนั่นเอง โดยการเปลี่ยนแปลงของภาวะข้อเข่าเสื่อมไม่สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ แต่สามารถชะลอความเสื่อมได้ 

มาดูโครงสร้างของข้อเข่าเพื่อให้เข้าใจการทำงานของเข่ามากขึ้น

โครงสร้างของข้อเข่า

กระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้งจะมาประกบกันเกิดเป็นข้อเข่า และจะมีกระดูกอ่อน (Cartilage) มาหุ้มผิวข้อทั้ง 2 เพื่อไม่ให้กระดูกทั้ง 2 เสียดสีกันจนเจ็บปวดและยังช่วยดูดซับแรงกระแทกของข้อเข่าทั้ง 2 ขณะที่มีการเคลื่อนไหว นอกจากนี้ภายในข้อเข่ายังมีน้ำเลี้ยงข้อเข่า (Synovial fluid) ซึ่งทำหน้าที่เสมือนน้ำมันหล่อลื่นภายในข้อเข่าอีกด้วย 

เมื่อกระดูกอ่อนเกิดการเสื่อม ผิวกระดูกต้นขาและหน้าแข้งเสียดสีกัน ทำให้มีอาการปวดเข่าขณะเดินลงน้ำหนัก และเมื่อผิวกระดูกเกิดความเสียหายร่างกายจะสร้างกระดูกงอกขึ้นมาทดแทน (spur) แต่กระดูกงอกเหล่านี้มีลักษณะขรุขระเหมือนหินงอกหินย้อย เมื่อเคลื่อนไหวข้อเข่าทำให้กระดูกงอกใหม่ไปเสียดสีกับเนื้อเยื่อรอบข้อเข่าทำให้เกิดอาการปวดตามาได้ 

เข่าโก่ง

นอกจากนี้ผู้ที่เป็นภาวะข้อเข่าเสื่อมจะมีกำลังกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าลดลง ความมั่นคงของข้อเข่าจึงลดลง เมื่อระยะเวลานานขึ้นอาจทำให้ข้อเข่ามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเกิดเป็นเข่าโก่งได้ในที่สุด 

ภาพ X ray ข้อเข่าเปรียบเทียบระหว่างข้อเข่าปกติ (ภาพซ้าย) และข้อเข่าเสื่อม (ภาพขวา)

ภาพ X ray ข้อเข่าเปรียบเทียบระหว่างข้อเข่าปกติ (ภาพซ้าย) และข้อเข่าเสื่อม (ภาพขวา)

ภาพอัลตราซาวน์ข้อเข่า โดยจะพบว่าระยะห่างระหว่างกระดูกหรือช่องว่างในข้อเข่าลดลง และพบกระดูกที่งอกขึ้นมาใหม่

ภาพอัลตราซาวน์ข้อเข่า โดยจะพบว่าระยะห่างระหว่างกระดูกหรือช่องว่างในข้อเข่าลดลง และพบกระดูกที่งอกขึ้นมาใหม่


สาเหตุของข้อเข่าเสื่อม

1. อายุที่มากขึ้นทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของผิวกระดูกอ่อนตามวัย

2. น้ำหนักตัวที่เกินจะเพิ่มแรงกระทำต่อข้อเข่า

3. การใช้งาน ท่าทาง กิจกรรมที่กระตุ้นให้เข่าเสื่อมเร็วขึ้น เช่น การนั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ การเดินขึ้น-ลงบันไดบ่อยๆ ทำให้มีแรงกดต่อข้อเข่ามาก 

4. ผู้หญิงเมื่อหมดประจำเดือน

5. การใช้งานเข่าอย่างผิดวิธี เช่นออกกำลังกายโดยการวิ่งทุกวัน หรือเล่นกีฬาที่ต้องกระโดดโดยไม่ฝึกกำลังกล้ามเนื้อขา

6. เคยประสบอุบัติเหตุที่เข่าโดยตรง เคยได้รับการผ่าตัดที่เข่า จะทำให้เป็นเข่าเสื่อมเร็วขึ้น

7. ผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เก๊าต์ เป็นต้น


อาการของข้อเข่าเสื่อม

- ปวดเสียวในข้อเข่า โดยเฉพาะข้อเข่าด้านในเมื่อเวลามีการเดินลงน้ำหนัก หรือการเคลื่อนไหว เช่น เดิน ขึ้น-ลงบันได้ นั่งพับเข่า อาการดีขึ้นเมื่อหยุดพักการใช้ข้อ 

- มีอาการฝืดขัดเมื่อหยุดพักการใช้ข้อเข่าเป็นเวลานาน โดยเฉพาะช่วงเช้าหลังตื่นนอน

- ข้อเข่าบวม เนื่องจากการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบข้อเข่า 

- เมื่อขยับข้อเข่าจะมีเสียงดัง ซึ่งเกิดจากการเสียดสีของกระดูก

- เมื่อข้อเข่าเสื่อมเป็นระยะเวลานานจะพบว่าเหยียดหรืองอข้อเข่าได้ไม่ค่อยสุด กล้ามเนื้อต้นขาลีบ ข้อเข่าหลวม ข้อเข่าผิดรูปเกิดภาวะข้อเข่าโก่งทำให้เดินและใช้ชีวิตประจำวันลำบาก

อาการของข้อเข่าเสื่อม


ทำอย่างไรไม่ให้เข่าเสื่อม

- หลีกเลี่ยงอิริยาบถที่มีแรงกดที่ข้อเข่า เช่น นั่งพับเพียบ คุกเข่า ขัดสมาธิ นั่งยองๆ นั่งเก้าอี้เตี้ย ไขว้ขา หรือการบิดหมุนเข่า , การขึ้น-ลงบันไดบ่อยๆโดยไม่จำเป็น , การยกหรือแบกของหนักๆ

- ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป เพื่อลดแรงกดและแรงกระแทกที่ข้อเข่า

- หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่ต้องกระโดดหรือใช้ข้อเข่ามาก เช่น บาสเกตบอล การวิ่ง เทนนิส เป็นต้น

- ออกกำลังกายและบริการกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าอย่างสม่ำเสมอ โดยการออกกำลังกายที่แนะนำคือ การว่ายน้ำ และการปั่นจักรยาน 

( ศึกษาเพิ่มเติมเรื่องการว่ายน้ำในภาวะข้อเข่าเสื่อมได้ที่ https://www.rehabcareclinic.com/blog/ปวดหล-ง-ปวดเข-าออกกำล-งกายในน-ำช-วยได-อย-างไร )

ออกกำลังกายใต้น้ำ


ท่าบริหารกล้ามเนื้อข้อเข่าสำหรับภาวะข้อเข่าเสื่อม

1.ยืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังและข้อพับเข่า 

วิธีทำ นอนหงายหรือนั่งหลังตรง เหยียดเข่าข้างที่จะยืดให้ตรง ใช้ผ้ายาวๆ หรือยางยืดคล้องที่เท้า กระดกข้อเท้าขึ้น และใช้มือทั้ง 2 ข้างดึงด้านปลายจนรู้สึกตึงแต่ไม่เจ็บ ค้างไว้ 10-15 วินาที ทำซ้ำ 5-8 รอบ

1.ยืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังและข้อพับเข่า

2. ยืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า 

วิธีทำ ยืนตรงมือจับเก้าอี้ งอเข่าข้างที่ต้องการยืดไปทางด้านหลัง หัวเข่าชี้ลงพื้น ใช้มือจับข้อเท้าข้างที่ยืดไปทางด้านหลัง จนรู้สึกตึงแต่ไม่เจ็บ ค้างไว้ 10-15 วินาที ทำซ้ำ 5-8 รอบ

ยืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า

3. ท่าออกกำลังกล้ามเนื้อข้อเข่า

วิธีทำ นอนหรือนั่งหลังตรง ใช้ผ้าขนหนูม้วนวางใต้ข้อพับเข่า กดเข่าลงกับผ้า พร้อมกับกระดกข้อเท้าขึ้น ค้างไว้ 10 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง จำนวน 3 รอบ

ท่าออกกำลังกล้ามเนื้อข้อเข่า

4. ท่าออกกำลังกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า 

วิธีทำ นอนหงายใช้ foam roller หรือ หมอนใบใหญ่วางใต้ข้อพับเข่า เตะขาขึ้นให้เข่าเหยียดตรงช้าๆ พร้อมกับกระดกข้อเท้าขึ้น ค้างไว้ 10 วินาที จากนั้นวางขาลงที่เดิมช้าๆ ทำซ้ำ 10 ครั้ง จำนวน 3 รอบ 

ท่าออกกำลังกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า

5. ท่าออกกำลังกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า

วิธีทำ นั่งลำตัวตรงบนเก้าอี้ เท้าทั้ง 2 ข้างวางราบ เข่างอ 90º เตะขาขึ้นเข่าเหยียดตรงช้าๆ พร้อมกับกระดกข้อเท้าขึ้น ค้างไว้ 10 วินาที จากนั้นวางเท้าลงกับพื้นช้าๆ ทำซ้ำ 10 ครั้ง จำนวน 3 รอบ

ท่าออกกำลังกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า

6. ท่าออกกำลังกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง

วิธีทำ ยืนตรงมือจับเก้าอี้ เตะขางอเข่าขึ้นไปทางด้านหลังช้าๆ หัวเข่าชี้ลงพื้น จากนั้นวางขาลงกับพื้นช้าๆ ทำซ้ำ 10 ครั้ง จำนวน 3 รอบ

ท่าออกกำลังกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง


การรักษาข้อเข่าเสื่อม 

มีทั้งการรักษาโดยไม่ผ่าตัด และการรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ในที่นี้ขอพูดถึงการรักษาโดยไม่ผ่าตัดนะคะ

การรักษาโดยไม่ผ่าตัด

1. ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต เช่น ลดน้ำหนัก หลีกเลี่ยงท่าที่ทำให้เกิดแรงกดต่อข้อเข่า ออกกำลังกายเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อข้อเข่า เช่นว่ายน้ำ ปั้นจักยานเป็นต้น

2. รับประทานยาแก้ปวดและยาต้านการอักเสบ

3. การทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวด และฝึกกำลังกล้ามเนื้อต้นขา


การรักษาทางกายภาพบำบัดในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม

- การดัดดึงข้อต่อ เพื่อลดอาการปวดและเพิ่มองศาการงอ-เหยียดเข่า (Mobilization) 

การดัดดึงข้อต่อเพื่อลดอาการปวดและเพิ่มองศาการงอ-เหยียดเข่า (Mobilization)

- การใช้ Ultrasound therapy ช่วยลดอาการปวดและการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ รักษาอาการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ และข้อต่อในชั้นลึก เร่งกระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ โดยจะเพิ่มการไหลเวียนเลือด เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน 

การใช้ Ultrasound therapy

- การใช้ High Power Laser therapy เกิดการกระตุ้นปลายประสาท ยับยั้งกระบวนการปวด ลดอาการปวด บวม และอักเสบ นอกจากนี้เลเซอร์มีผลความร้อน ทำให้หลอดเลือดขยายตัว มีผลในการนำเลือดและออกซิเจนมาเลี้ยงเซลล์มากขึ้น เร่งการจำกัดของเสีย ช่วยลดการอักเสบ และที่สำคัญเลเซอร์มีจุดเด่นในการปรับพลังงานของเซลล์ (ATP) จากการกระตุ้นการขนส่งออกซิเจน และไมโตรคอนเดรีย ภายในเซลล์ให้รวดเร็วขึ้น ผลจาก ATP ที่มากขึ้นทำให้เซลล์มีการซ่อมแซมฟื้นฟูที่รวดเร็วมากขึ้น

การใช้ High Power Laser therapy

วันนี้แนะกันพอหอมปากหอมคอเกี่ยวกับภาวะข้อเข่าเสื่อม ท่าบริหารสำหรับข้อเข่าเสื่อมและการรักษาไปแล้ว แต่ตอนต่อไปจะขอนำเสนอแนวทางการรักษาทางการแพทย์โดยไม่ต้องผ่าตัดกันบ้างนะคะ แล้วพบกันค่า^^

สามารถติดต่อเพื่อปรึกษาปัญหาสุขภาพได้กับทางรีแฮปแคร์คลินิกโดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นและนักกายภาพบำบัดเฉพาะทาง  

สอบถามเพิ่มเติมที่ "รีแฮป แคร์ คลินิก"

ที่อยู่ : 423 ถนนเพชรเกษม แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กทม. (อยู่ในศูนย์กีฬากันอริ ก่อนถึงซีคอนบางแค) ? 061-801-2482 Line ID : @rehabcare