Skip to main content

ปวดข้อมือ

ปวดข้อมือ!!! จากการอุ้มลูก แต่ทานยาไม่ได้ ทำอย่างไร คุณแม่มือใหม่ต้องรู้
Posted: January 18, 2024 By: adminrehabcare2 Categories:  Comment:  0

อาการปวดข้อมือในคุณแม่หลังคลอด มักพบได้บ่อยกับคุณแม่ที่เลี้ยงลูกตั้งแต่ช่วงหลังคลอดจนถึงช่วงวัยก่อนลูกน้อยเดินได้ ซึ่งเป็นช่วงที่คุณแม่ต้องอุ้มลูกเป็นเวลานาน จนทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณข้อมือ หรือที่เราเรียกกันว่า “โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain’s disease / โรคเดอกาแวง)” โดยจะมีอาการปวดบริเวณข้อมือและโคนนิ้วหัวแม่มือ และอาจจะมีปวดไปบริเวณแขนท่อนปลายได้ ซึ่งสาเหตุเกิดจากการใช้งานข้อมือหรือนิ้วหัวแม่มือลักษณะเดิมซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานจนเกิดการอักเสบขึ้น และหากยิ่งมีการใช้งานอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้มีอาการปวดเพิ่มมากขึ้นได้

ท่าอุ้มลูกแบบไหนเสี่ยงต่อการเป็นเดอกาแวง และท่าอุ้มไหนปลอดภัยสำหรับคุณแม่
ท่าที่ส่งเสริมให้คุณแม่มีอาการบาดเจ็บของข้อมือ หรือเสี่ยงต่อการเป็นเดอกาแวง คือ คุณแม่ที่อุ้มลูกด้วยการใช้ร่องระหว่างนิ้วชี้กับนิ้วโป้งสอดช้อนใต้รักแร้ลูกและอุ้มขึ้นมา เมื่อทำซ้ำๆ หรือน้ำหนักลูกน้อยที่เพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้เส้นเอ็นข้อมือเกิดการอักเสบได้ วิธีที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บข้อมือน้อยที่สุดคือ ท่าหงายมือช้อนก้นในท่าที่ลูกกำลังนอนหงายและใช้ท่อนแขนสอดประคองหลังและศีรษะขึ้นมา ท่านี้จะช่วยลดการใช้งานบริเวณเส้นเอ็นข้อมือ จึงเป็นการถนอมข้อมือสำหรับคุณแม่ได้


วิธีทดสอบด้วยตัวเองง่ายๆ ว่าเป็นเดอกาแวงหรือไม่ แค่ 2 ขั้นตอน เรียกว่า Finkelstein’s test
1.ยื่นแขนออกมา จากนั้นให้กำมือโดยงอนิ้วหัวแม่มือในอุ้งมือ
2.กระดกข้อมือลงไปด้านนิ้วก้อย

หากมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วโป้งจะถือว่าผลทดสอบเป็นบวก (positive) บ่งบอกว่ามีอาการของปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบหรือเดอกาแวง


ในกรณีที่ตรวจด้วย Finkelstein’s test แล้วพบผลเป็นบวก หรือไม่มั่นใจว่าผลการตรวจเป็นอย่างไร แนะนำตรวจประเมินกับแพทย์เฉพาะทางเพิ่มเติม โดยที่รีแฮปแคร์คลินิกมีแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่มีความเชี่ยวชาญ สามารถใช้เครื่องอัลตราซาวด์ในการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติได้

ภาพแสดง การตรวจพบปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain’s disease) ด้วยอัลตราซาวด์วินิจฉัย
อ้างอิง : Corvino A, Lonardo V, Corvino F, Tafuri D, Pizzi AD, Cocco G. “ Daddy wrist”: A high-resolution ultrasound diagnosis of de Quervain tenosynovitis. J Clin Ultrasound. 2023; 51(5): 845-847.

เมื่อเป็น ปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain’s disease) แล้ว ต้องทำอย่างไร?
แม้จะมีอาการปวดมากเพียงใดแต่ในคุณแม่ที่ให้นมลูก จะไม่สามารถทานยาได้ ซึ่งท่าทางและกิจกรรมที่ต้องเลี้ยงลูก ส่งผลกระทบและกระตุ้นให้เกิดการอักเสบซ้ำๆ และมีอาการปวดตามมาอยู่เสมอ หากปล่อยให้มีอาการเจ็บปวดอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้รับการดูแลและรักษาให้หาย อาการปวดนี้อาจทำให้กลายเป็นภาวะเรื้อรังได้ ดังนั้นรีแฮปแคร์คลินิกจึงมาแนะนำวิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้น และการรักษาแบบไม่ใช้ยา ที่จะทำให้คุณแม่ ดูแลลูกน้อยได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีอาการปวดมารบกวนใจ

การดูแลอาการปวดเบื้องต้น
1. การพักการใช้งานหรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำแล้วมีอาการปวด
2. การใส่อุปกรณ์ประคองข้อมือ (Wrist-thumb splint) เพื่อลดการเคลื่อนไหวและจำกัดการทำงานของข้อมือ

3. การประคบอุ่นหรือประคบเย็น
3.1 ประคบเย็น/แช่น้ำเย็น ในกรณีหลังจากใช้งานซ้ำๆ มาในทันที หรือมีอาการปวดร่วมกับ บวม แดง ร้อน เพื่อลดการอักเสบจากการใช้งานบริเวณมือและข้อมือ
3.2 ประคบอุ่น/แช่น้ำอุ่น ในกรณีมีการบาดเจ็บเรื้อรัง มีอาการปวดตึง เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว และมีการไหลเวียนโลหิตดีขึ้น

การรักษาทางการแพทย์

การฉีดยา แนะนำทำในกรณที่ปวดมาก ต้องการให้หายเร็ว หรือไม่ตอบสนองต่อการทำกายภาพบำบัด ซึ่งควรฉีดยาโดยแพทย์เฉพาะทาง และใช้อัลตราซาวด์นำวิถีฉีดเพื่อเพิ่มความปลอดภัย มีความแม่นยำ และเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้สูงขึ้น ทำได้ 2 วิธี ดังนี้

1.  การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น (platelet rich plasma /PRP injection) คือ การฉีดเกล็ดเลือดความเข้มข้นสูง โดยนำเลือดของตนเองมาสกัดเอาสารที่มีฤทธิ์ซ่อมแซมและลดการอักเสบและฉีดกลับเข้าไปบริเวณที่มีการบาดเจ็บ เพื่อเร่งกระบวนการซ่อมแซม จึงทำให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นสามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ทำให้อาการปวดลดลง โดยปกติมักเห็นผลดีขึ้นตั้งแต่เข็มแรกของการฉีด ข้อดี คือ มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง แต่มีราคาสูงกว่าการฉีดยาอื่น

2. การฉีดสเตียรอยด์ (steroid injection) เป็นการฉีดเพื่อลดการอักเสบและลดปวด ข้อดี คือ เห็นผลเร็วเพราะยามีฤทธิ์แก้ปวดสูง ราคาต่ำกว่า PRP ส่วนข้อเสีย คือ อาจส่งผลในระยะยาวทำให้ไม่เกิดการซ่อมแซมและฟื้นฟูของเส้นเอ็นถ้าไม่พักการใช้งาน ซึ่งแตกต่างจาก PRP ไม่สามารถรฉีดเกิน 2-3 ครั้งต่อปีหรือติดต่อกัน และอันตรายกว่า PRP เพราะถ้าฉีดโดนเส้นเอ็นอาจส่งผลให้เส้นเอ็นอ่อนแอและมีโอกาสขาดได้

ภาพแสดง เข็มฉีดยาขณะฉีดบริเวณปลอกหุ้มเอ็น ด้วยการใช้เครื่องอัลตราซาวด์นำวิถี
อ้างอิง : Corvino A, Lonardo V, Corvino F, Tafuri D, Pizzi AD, Cocco G. “ Daddy wrist”: A high-resolution ultrasound diagnosis of de Quervain tenosynovitis. J Clin Ultrasound. 2023; 51(5): 845-847

การรักษาทางกายภาพบำบัด เพื่อลดอาการปวด
การทำกายภาพบำบัดด้วยเครื่องมือเพื่อลดอาการปวด ดังนี้

1. Focus Shockwave หรือคลื่นกระแทก ใช้ที่บริเวณเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณข้อมือเพื่อลดอาการปวดและเร่งการซ่อมแซมตัวเอง นอกจากนี้ยังสามารถใช้ที่บริเวณกล้ามเนื้อปลายแขนที่มีอาการปวดและตึงตัวร่วมด้วย เพื่อให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
2. High Power Laser หรือเลเซอร์พลังงานสูง เป็นพลังงานแสงความเข้มข้นสูงความยาวคลื่น 1064 ที่ลงลึกถึงเส้นเอ็นใช้บริเวณที่มีอาการปวดจากการอักเสบเพื่อเติมพลังงาน เร่งการซ่อมแซมตัวเอง และลดการอักเสบได้อย่างรวดเร็ว
3. Ultrasound เป็นคลื่นเสียงความถี่สูง โดยมีผลของความร้อนที่ช่วยเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด ใช้ทั้งบริเวณกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่บาดเจ็บ
4. TENS หรือเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ใช้ผ่อนคลายตรงบริเวณที่มีอาการปวด เพื่อลดอาการปวดและคลายกล้ามเนื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. Hot Pack หรือประคบอุ่น ใช้ตรงบริเวณกล้ามเนื้อปลายแขนที่มีอาการตึงตัวได้
6. โปรแกรมการออกกำลังกาย

ท่าออกกำลังกาย ป้องกันโรคเดอกาแวง
1.ท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้องอนิ้วโป้ง : หงายมือ จากนั้นใช้มืออีกข้างดึงยืดนิ้วโป้งจนรู้สึกตึงบริเวณนิ้วโป้ง ค้างไว้ 10 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง

2.ท่ายืดกล้ามเนื้อแขนด้านใน : เหยียดศอกในลักษณะหงายมือ แล้วดึงยืดฝ่ามือลงให้รู้สึกตึงกล้ามเนื้อแขนด้านใน ค้างไว้ 10 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง

3.ท่ายืดกล้ามเนื้อแขนด้านนอก : เหยียดศอกในลักษณะคว่ำมือ แล้วดึงยืดหลังมือลงให้รู้สึกตึงกล้ามเนื้อแขนด้านนอก ค้างไว้ 10 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง

4.ท่าเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อแขน : หงายมือ กำมือ แล้วค่อยๆ กระดกข้อมือขึ้น ค้างไว้ 5 วินาทีแล้วค่อยกลับไปตำแหน่งเดิม ทำซ้ำ 10 ครั้ง เพิ่มความยากด้วยการใส่น้ำหนักถ่วง

5.ท่าเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อแขน : คว่ำมือลง แล้วกำมือ หลังจากนั้นค่อยๆ กระดกข้อมือขึ้น ค้างไว้ 5 วินาทีแล้วกลับไปตำแหน่งเดิม ทำซ้ำ 10 ครั้ง เพิ่มความยากด้วยการใส่น้ำหนักถ่วง


6.ท่าเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อนิ้วมือ : ใช้ยางยืดวงใหญ่ใส่ที่รอบนอกของนิ้วมือ จากนั้น กางและหุบนิ้วมือต้านแรงยางยืด ทำซ้ำ 10 ครั้ง


หากคุณแม่มือใหม่ท่านไหนกำลังประสบปัญหาปวดข้อมือ หรือมีภาวะปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบอยู่ และมีข้อจำกัดในการรับประทานยาจากการให้นมลูก ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเพื่อประเมินอาการและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดการอักเสบมากขึ้นและกลายเป็นภาวะปวดเรื้อรังจนต้องผ่าตัด

ปวดโคนนิ้วโป้ง ติดมือถือ ใช้โทรศัพท์ทำงานเยอะ ต้องอ่าน!!
Posted: January 16, 2024 By: adminrehabcare2 Categories:  Comment:  0

ในชีวิตประจำวันของเรา นิ้วโป้งหรือนิ้วหัวแม่มือ เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายที่ถูกใช้งานมากและใช้งานอยู่ตลอดเวลา ทั้งในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เล่นโทรศัพท์ ถือของ รวมถึงการทำงาน เพราะฉะนั้นจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วโป้ง โดยโรคที่พบได้บ่อยนั้น ได้แก่

De Quervain’s disease หรือปลอกหุ้มเส้นเอ็นข้อมืออักเสบ เกิดจากการเสียดสีระหว่างเส้นเอ็นนิ้วโป้งด้านนอกและปลอกหุ้มเส้นเอ็น ทำให้ปลอกหุ้มเอ็นหนาตัวขึ้น และเกิดการอักเสบตามมา ส่งผลให้รู้สึกปวดขณะขยับนิ้วโป้งหรือข้อมือ บางครั้งแม้ไม่ได้มีการใช้งานก็มีอาการปวด พบได้บ่อยในคนที่ใช้งานข้อมือซ้ำๆ ขยับไปมาตลอดเวลา ทำให้มีอาการของโรคนี้ได้

วิธีการรักษาเบื้องต้น หากมีการอักเสบเกิดขึ้น 1 – 2 วันแรก หรือมีอาการปวด บวม แดง ร้อน สามารถประคบเย็นหรือแช่มือในน้ำเย็นเพื่อบรรเทาการอักเสบก่อน หลังจากนั้นดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ ดังนี้
1. แช่มือในน้ำอุ่นหรือประคบอุ่นด้วยแผ่นประคบอุ่นไฟฟ้าครั้งละ 10 - 15 นาที อย่างน้อย 2 - 3 รอบต่อวันพร้อมกับขยับยืดเหยียดนิ้วไปด้วย
2. หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้งานนิ้วโป้งและข้อมือหนัก หรือเลี่ยงใช้งานซ้ำๆ
3. ใส่อุปกรณ์ support เช่น wrist - thumb support เพื่อช่วยป้องกันการขยับของนิ้วโป้ง

ภาพแสดง อุปกรณ์ประคองข้อมือ Wrist-thumb support

หากยังไม่ดีขึ้นภายใน 3 - 5 วัน หรือปวดมากจนใช้งานไม่ได้ ควรรีบพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเพื่อประเมินอาการและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม โดยหากใครยังไม่ต้องการผ่าตัด สามารถใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดเพื่อรักษาได้ เช่น Focus Shockwave, High Power Laser, Ultrasound Therapy, Electrical Stimulation เพื่อช่วยลดการอักเสบ ลดอาการปวด และกระตุ้นการซ่อมแซมเนื้อเยื่อได้ หรืออีกแนวทางคือการฉีดยาเพื่อช่วยลดอาการปวดและกระตุ้นการซ่อมแซม โดยใช้เกล็ดเลือดสกัดเข้มข้น (PRP) เพื่อให้เห็นผลเร็ว มีประสิทธิภาพและปลอดภัย

ทั้งนี้ส่วนที่สำคัญที่สุดคือการดูแลและป้องกันตัวเอง หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้งานนิ้วโป้งและข้อมือหนักๆ การขยับซ้ำๆใช้งานตลอดเวลา ต้องมีการพักการใช้งานบ้าง แต่หากไม่สามารถหยุดการใช้งานได้ควรยืดเหยียดนิ้วโป้งบ่อยๆ และแช่มือในน้ำอุ่นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการอักเสบที่รุนแรง

ปวดแบบไหนควรประคบร้อนหรือเย็น
Posted: January 11, 2024 By: adminrehabcare2 Categories:  Comment:  0

การใช้ประคบเย็น เพื่อลดอาการปวด

ควรใช้ในกรณีหลังมีการบาดเจ็บมาในช่วง 24 - 48 ชั่วโมงแรก หรือมีข้อบ่งชี้ว่าเส้นเลือดบริเวณนั้นมีการฉีกขาด หรือมีการอักเสบ ได้แก่ มีอาการปวด ร่วมกับการบวม แดง และร้อน ซึ่งความเย็นมีผลทำให้หลอดเลือดหดตัว เลือดออกน้อยลง การบาดเจ็บและการอักเสบจึงลดลงตามไปด้วย

อาการที่ควรประคบเย็น เช่น ปวดศีรษะ มีไข้สูง ปวดฟัน ปวดบวมข้อเท้า ข้อเคล็ด เลือดกำเดาไหล หรือ ปวดบวมบริเวณอื่นๆ ที่เกิดจากการได้รับบาดเจ็บหรือเริ่มมีอาการปวดในช่วงแรก

วิธีประคบที่เหมาะสม อาจใช้เจลสำหรับประคบเย็นแบบสำเร็จรูปหรือทำถุงน้ำแข็งขึ้นใช้เอง โดยใช้ถุงพลาสติกขนาดพอเหมาะ เติมน้ำเปล่าผสมน้ำแข็งในสัดส่วนที่เท่ากัน นำผ้ามาหุ้มอีกชั้น ตรวจสอบว่าไม่เย็นเกินไปโดยการนำมาประคบผิวหนัง ถ้าบริเวณที่มีอาการเป็นบริเวณมือ แขน ขา หรือเท้า อาจใช้การแช่ในภาชนะที่บรรจุน้ำเย็นแทน โดยประคบหรือแช่นานประมาณ 10
- 15 นาทีต่อครั้ง จำนวน 2 - 3 ครั้งต่อวัน

การใช้ประคบร้อน เพื่อลดอาการปวด

ประคบอุ่นนั้นสามารถกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตให้ดีขึ้น เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่น ลดอาการเมื่อยล้า และยังส่งผลในการช่วยลดปวดได้ นอกจากนี้ยังสามารถทำง่ายๆ ได้ด้วยตนเอง และหากทำควบคู่กับการยืดกล้ามเนื้อจะยิ่งมีประสิทธิภาพในการลดความปวดมากยิ่งขึ้น

อาการที่ควรประคบอุ่น เมื่อมีอาการปวดเมื่อย ปวดตึงของกล้ามเนื้อจากสาเหตุต่างๆ เช่น การนั่งทำงานเป็นระยะเวลานาน การนั่งขับรถต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน หรือการยืนติดต่อกันเป็นเวลานาน สามารถประคบอุ่นได้ทุกบริเวณ ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อ เช่น คอ-บ่า หลัง ขา เป็นต้น

วิธีประคบอุ่นที่เหมาะสม ประคบอุ่นในระดับความร้อนที่อุ่นสบาย ต้องไม่รู้สึกแสบผิวหรือไม่ร้อนจัดเกินไป เพื่อป้องกันการเกิดผิวหนังไหม้พอง แนะนำประคบครั้ง 15 - 20 นาที วันละ 1 - 2 รอบ

ข้อห้ามและข้อควรระวังในการประคบอุ่น

ไม่ควรประคบอุ่นในบริเวณที่มีอาการอักเสบ บวม แดง ร้อน มีแผลเปิด หรือผิวเป็นผื่น

อุปกรณ์ที่ใช้ในการประคบอุ่น

1. เจลประคบอุ่น หรือถุงน้ำร้อน โดยต้องห่อด้วยผ้าเพื่อให้ได้ความร้อนที่เหมาะสม ข้อดีคือ หาใช้ได้ง่าย ราคาไม่แพง แต่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้

2. แผ่นประคบอุ่นไฟฟ้า เป็นการประคบอุ่นรูปแบบใหม่ข้อดีคือ สามารถควบคุมระดับความร้อนที่พอเหมาะได้ โดยแผ่นประคบอุ่นไฟฟ้าจะมีความร้อนคงที่ มีความสะดวกสบายในการใช้งาน ปลอดภัยสูงเพราะสามารถตั้งเวลาใช้งานได้ อายุการใช้งานนานสามารถประคบได้ทั่วถึงทุกส่วน แต่มีราคาสูงกว่าแบบถุงน้ำร้อน

แค่นั่งทำงานหน้าคอพิวเตอร์แล้วมีอาการร้าวลงแขนชามือ
Posted: July 14, 2021 By: adminrehabcare2 Categories:  Comment:  0

    ในกลุ่มคนที่นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ เช่น กลุ่มคนออฟฟิศ มักจะมีอาการเหล่านี้ได้บ่อย โดยจะสังเกตเห็นว่าในขณะนั่งทำงาน ลำตัวจะอยู่ห่างจากโต๊ะคอม ทำให้เราต้องเอื้อมมือไปพิมพ์งาน ทำให้แขนเราต้องอยู่ในลักษณะที่กล้ามเนื้อสะบักมีการทำงานเดิมๆซ้ำๆ จนทำให้กล้ามเนื้อมีการหดเกร็งแล้วไม่คลายตัว จนเกิดเป็นจุดเจ็บ (trigger point) ซึ่งส่งผลให้บ้างครั้งมีอาการร้าวลงไปที่แขนและมือได้

    และบางรายมีอาการชาฝ่ามือในขณะนั่งทำงาน ซึ่งสาเหตุเกิดจากการจับเม้าส์ เป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้ข้อมือถูกกด ซึ่งทำให้เส้นประสาทที่ลอดผ่านข้อมือจะถูกกดไปด้วย ทำให้เรามีอาการชาที่ฝ่ามือได้ โดยลักษณะ อาการจะชานิ้วโป้ง ชี้ กลาง นางครึ่งนิ้ว เรียกว่าภาวะพังผืดทับเส้นประสาทที่มือ 

    ซึ่งทั้งสองอาการมักจะอาการคล้ายกัน เราสามารถทำการตรวจประเมินด้วยตนเองได้เองง่ายๆ คือให้นำหลังมือทั้งสองข้างชนกันเป็นเวลา 1 นาที ถ้ามีอาการชาบริเวณฝ่ามือ (นิ้วโป้ง ชี้ กลาง นางครึ่งนิ้ว) คือเป็นภาวะพังผืดทับเส้นประสาทที่มือ

แค่นั่งทำงานหน้าคอพิวเตอร์แล้วมีอาการร้าวลงแขนชามือ

แนวทางการรักษาทางกายภาพบำบัด

- คลื่นกระแทก (Shockwave) : เป็นการส่งผ่านคลื่นกระแทกเข้าไปยังบริเวณที่มีอาการบาดเจ็บ เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดกระบวนการซ่อมแซมและสร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมา

- เครื่องอัตราซาวน์ (Ultrasound therapy) : ช่วยรักษาอาการบาดเจ็บของเส้นเอ็นหรือเนื้อเยื่อ เร่งกระบวนการซ่อมแซม โดยจะเพิ่มการไหลเวียนเลือด เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ลดอาการปวดเเละการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ

- เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (TENS) : เป็นกระแสไฟฟ้ากระตุ้นประสาทผ่านผิวหนังเพื่อช่วยในการลดปวด

- เลเซอร์พลังงานสูง (High power laser therapy) : เกิดการกระตุ้นปลายประสาท ยับยั้งกระบวนการปวด ลดอาการปวด บวม และอักเสบ

- การออกกำลังกาย (Therapeutic exercise)

แนวทางการรักษาทางกายภาพบำบัด

การปฎิบัติตัวเพื่อลดอาการเสี่ยง

- ในกลุ่มคนที่มีภาวะกล้ามเนื้อสะบักอักเสบเรื้อรัง ควรนั่งให้ลำตัวใกล้กับแป้นพิมพ์หรือเม้าส์ โดยให้แขนอยู่ข้างลำตัวไม่เอื้อมแขน และมีแผ่นรองท่อนแขนเพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวมากเกินไป และยืดกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ

- ในกลุ่มคนที่มีภาวะพังผืดทับเส้นประสาทที่มือ ควรหาฟองน้ำมารองบริเวณข้อมือเพื่อลดการกดทับเส้นประสาทและยืดกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ

ท่ายืดกล้ามเนื้อสำหรับผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อสะบักอักเสบเรื้อรัง : โดยยกแขนข้างที่มีอาการตั้งฉากกับพื้น จากนั้นใช้แขนอีกข้างคล้องแขนข้างที่มีปัญหา ดึงไปให้ใกล้กับไหล่อีกข้าง รู้สึกตึงแต่ไม่เจ็บ ค้างไว้ 15 วินาที 4 ครั้งต่อรอบ 3 รอบต่อวัน

ท่ายืดกล้ามเนื้อสำหรับผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อสะบักอักเสบเรื้อรัง

ท่ายืดกล้ามเนื้อสำหรับผู้ที่มีภาวะพังผืดทับเส้นประสาทที่มือ : โดยยกแขนข้างที่มีอาการตั้งฉากกับพื้น หงายมือขึ้น จากนั้นกระดกข้อมือลง รู้สึกตึงแต่ไม่เจ็บ ค้างไว้ 15 วินาที 4 ครั้งต่อรอบ 3 รอบต่อวัน 

ท่ายืดกล้ามเนื้อสำหรับผู้ที่มีภาวะพังผืดทับเส้นประสาทที่มือ

สามารถติดต่อเพื่อปรึกษาปัญหาสุขภาพได้กับทางรีแฮปแคร์คลินิกโดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นและนักกายภาพบำบัดเฉพาะทาง

สอบถามเพิ่มเติมที่ "รีแฮป แคร์ คลินิก"

ที่อยู่ : 423 ถนนเพชรเกษม แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กทม. (อยู่ในศูนย์กีฬากันอริ ก่อนถึงซีคอนบางแค) ? 061-801-2482 Line ID : @rehabcare

 

นิ้วล็อค แบบนี้ไม่เลิฟแน่ !!!
Posted: July 13, 2021 By: adminrehabcare2 Categories:  Comment:  0

สาเหตุของนิ้วล็อค

อาการนิ้วล็อคจะเกิดขึ้นเมื่อปลอกหุ้มเอ็นตรงนิ้วอักเสบหนาตัวขึ้น ซึ่งทำให้เอ็นและปลอกหุ้มเอ็นตรงนิ้วไม่สามารถยืดหรืองอได้ตามปกติ

สาเหตุของนิ้วล็อค


ปัจจัยที่เสี่ยงให้เกิดอาการนิ้วล็อค

- การหิ้วของหนักเกินไป เช่น หิ้วตะกร้า ถุงพลาสติก หรือ ถังน้ำ

- การบิดผ้าหรือซักผ้าด้วยมือเปล่าจำนวนมากๆ 

- อาชีพหรือกิจกรรมที่ต้องใช้มือทำและทำให้มือรับน้ำหนักเป็นเวลานานและทำท่าเดิมซ้ำบ่อย ๆ เช่น ทำสวน ตัดแต่งต้นไม้ ใช้ไขควงทำงาน หรือใช้อุปกรณ์ที่ต้องออกแรงกด 

- พบได้ทั่วไปในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

- เกิดขึ้นบ่อยที่สุดกับผู้ที่มีอายุ 40-60 ปี

- คนที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) โรคเกาต์ เบาหวาน เป็นต้น

- การเล่นกีฬาประเภท ตีกอล์ฟ การตีเทนนิส ซึ่งทำให้มีโอกาสเกิดนิ้วล็อคมากกว่ากีฬาประเภทอื่น


อาการของนิ้วล็อค

นิ้วล็อคมักเกิดขึ้นกับนิ้วโป้ง นิ้วกลาง หรือนิ้วนาง หรืออาจเกิดขึ้นกับนิ้วหลายนิ้วได้ในเวลาเดียวกัน โดยอาการนิ้วล็อคจะเกิดขึ้นเมื่อนิ้วใดนิ้วหนึ่งพยายามงอในขณะที่มือต้องออกแรงทำบางอย่าง เมื่อนิ้วล็อค อาจจะเกิดอาการดังต่อไปนี้

- รู้สึกดังกึก หรือฝืดเมื่อต้องงอหรือยืดนิ้ว

- เกิดอาการนิ้วแข็ง ซึ่งมักเกิดขึ้นตอนเช้ารู้สึกตึง

- มีก้อนนูนขึ้นมาตรงโคนของนิ้วที่ล็อค

- งอนิ้วสะดวก แต่เหยียดนิ้วลำบาก

- ในรายที่เป็นมานานจะพบการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่เหยียดนิ้ว 


ระดับความรุนแรงของอาการนิ้วล็อคได้ทั้งหมด 4 ระดับ

ระดับที่ 1 : ปวดบริเวณโคนนิ้ว จากภาวะเส้นเอ็นอักเสบ รู้สึกฝืดเป็นบางครั้งเมื่อเหยียดงอนิ้วในช่วงตื่นนอนหรืออากาศเย็น แต่เมื่อขยับนิ้วมือไปสักพักก็จะกำมือได้สะดวกขึ้น 

ทานยาแก้อักเสบ แช่น้ำอุ่น ทำกายภาพบำบัด

ระดับที่ 2 : รู้สึกฝืดทุกครั้งเมื่อขยับนิ้ว และเป็นมากเมื่อเหยียดนิ้วออกร่วมกับมีอาการปวด 

ทำกายภาพบำบัด

ระดับที่ 3 : เหยียดนิ้วได้ยากมากขึ้น ต้องมืออีกข้างช่วยเหยียดนิ้วออก และมีเสียงดังป๊อกขณะเหยียดนิ้วออก 

ทำกายภาพบำบัด ฉีดยา

ระดับที่ 4 : ถือว่าเป็นระดับที่รุนแรงที่สุด คือนิ้วจะงออยู่ไม่สามารถเหยียดนิ้วออกมาได้อีกเลย เนื่องจากปุ่มเส้นเอ็นมีขนาดใหญ่มากจนไม่สามารถรอดผ่านปลอกหุ้มเส้นเอ็นได้ และเมื่ออยู่ในท่างอนิ้วนานๆจะทำให้นิ้วมือเกิดการผิดรูปขึ้นตามมาในที่สุด

ฉีดยา ผ่าตัด

อาการนิ้วล็อคเป็นอาการที่รักษาได้และรักษาหายขาด แต่หากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานๆ ข้อที่ค้างอยู่งอไม่ลงอาจจะทำให้มีข้อยึดและส่งผลให้เกิดข้อยึดติดถาวรถึงแม้จะทำการรักษาแล้วก็ตาม ดังนั้นไม่ควรปล่อยให้เกิดอาการในระยะที่ 3 หรือระยะที่ 4 ไว้เป็นเวลานานๆ 


การรักษาด้วยตนเองในเบื้องต้น

- ให้หยุดการใช้งานของนิ้วข้างที่ปวดโดยการดาม splint ที่นิ้วมือ เพื่อลดการใช้งานของนิ้วไม่ให้อาการปวดลุกลามจนนำไปสู่นิ้วล็อกสมบูรณ์ 

ให้หยุดการใช้งานของนิ้วข้างที่ปวดโดยการดาม splint ที่นิ้วมือ

- หมั่นแช่นํ้าอุ่นทุกวัน เช้า-เย็น อย่างน้อยวันละ 15-20 นาที

- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก การเกร็งนิ้ว หรือทำกิจกรรมใดๆที่ทำให้นิ้วต้องเกิดการเสียดสี แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้แนะนำให้ใส่ถุงมือ

หลีกเลี่ยงการยกของหนัก การเกร็งนิ้ว หรือทำกิจกรรมใดๆที่ทำให้นิ้วต้องเกิดการเสียดสี

- หมั่นยืดเหยียดนิ้วมือทุกๆชั่วโมง เพื่อให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อผ่อนคลายอาการปวดจะได้ทุเลาลง ตามท่าดังต่อไปนี้ 

1.  วางมือลงบนพื้นราบ แล้วยกนิ้ว ทีละนิ้วขึ้นมา ไล่ไปให้ครบ 5 นิ้ว ทำซ้ำ 3-5 รอบ

วางมือลงบนพื้นราบ แล้วยกนิ้ว ทีละนิ้วขึ้นมา ไล่ไปให้ครบ 5 นิ้ว

2. ใช้หนังยางไว้ในมือดังภาพ แล้วค่อยๆกางนิ้วมือทั้ง 5 ออก ช้าๆ ทำ 10 ครั้ง 3 รอบ

ใช้หนังยางไว้ในมือดังภาพแล้วค่อยๆกางนิ้วมือทั้ง 5 ออก ช้าๆ

3. ทำท่า OK แล้วค่อยๆเหยียดนิ้วออกช้าๆ ทำ 10 ครั้ง 3 รอบ

ทำท่า OKแล้วค่อยๆเหยียดนิ้วออกช้าๆ

4. แบฝ่ามือ ค่อยๆงอนิ้วชี้ กลาง นาง ก้อยลง ช้าๆ จากนั้นค่อยๆกำมือ และค่อยๆคลายนิ้วโป้งช้าๆ ทำ 10 ครั้ง 3-5 รอบ ดังภาพ

 แบฝ่ามือค่อยๆงอนิ้วชี้ กลาง นาง ก้อยลง ช้าๆ

จากนั้นค่อยๆกำมือค่อยๆคลายนิ้วโป้งช้าๆ ทำ 10 ครั้ง

5. ค่อยๆกำลูกบอลหรือลูกเทนนิสช้าๆ ทำ 10 ครั้ง 3-5 รอบ 

ค่อยๆกำลูกบอลหรือลูกเทนนิสช้าๆ ทำ 10 ครั้ง

การรักษาของทางรีแฮปแคร์คลินิก เรามีแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูวางโปรแกรมการรักษาร่วมกับนักกายภาพบำบัด เช่นใช้เลเซอร์พลังงานสูงเพื่อลดปวดและออกกำลังกายกล้ามเนื้อที่ผิดปกติเพื่อปรับโครงสร้างร่างกายให้แข็งแรงขึ้น การฉีด prolotherapy และวิตามินซึ่งขึ้นอยู่กับอาการ และความรุนแรงของโรค เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการซ่อมแซมตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด 

หากมีข้อสงสัยสามารถปรึกษากับทางรีแฮปแคร์คลินิกได้โดยตรง โดยทางคลินิกมีแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และนักกายภาพบำบัด คอยแนะนำให้คำปรึกษาได้ตลอด

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ที่อยู่ : 423 ถนนเพชรเกษม แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กทม. (อยู่ในศูนย์กีฬากันอริ ก่อนถึงซีคอนบางแค) ? 061-801-2482 Line ID : @rehabcare 

 

แก้ออฟฟิศซินโดรมง่ายๆ แค่วิธีจับเม้าส์และคีย์บอร์ดให้ถูกต้อง !!!
Posted: July 12, 2021 By: adminrehabcare2 Categories:  Comment:  0

Mouse และ Keyboard เป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งในการใช้งานคอมพิวเตอร์หรือการเล่นเกม การใช้เม้าส์และคีย์บอร์ดเป็นการเคลื่อนไหวข้อมือและนิ้ว ซ้ำๆ ส่งผลให้กล้ามเนื้อมัดเล็กที่ใช้เกิดอาการล้าจากการทำงานหนักเกินไป จึงเป็นเหตุให้มีอาการปวด เจ็บข้อมือ มีอาการชาที่นิ้วโป้งและนิ้วชี้ ซึ่งอาจพัฒนาไปเป็นโรค Carpal Tunnel Syndrome (CTS) 

เมื่อเรามีการกระดกข้อมือเป็นเวลานานๆ ก็จะทำให้มีการกดทับต่อตัวเส้นประสาท (Median nerve) ที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อมือ ส่งผลให้เกิดการปวด ชาและกล้ามเนื้อลีบตามมาได้

Carpal Tunnel Syndrome (CTS)

ดังนั้นการเลือกเม้าส์และคีย์บอร์ดอย่างถูกต้อง การจัดท่าทางอย่างเหมาะสม และระมัดระวังการใช้กล้ามเนื้อและร่างกายสามารถช่วยลดอัตราการเกิดการบาดเจ็บได้


เรามาทำความรู้จักกับรูปแบบของการจับเมาส์ หรือที่เขาเรียกกันว่า Mouse grip ว่ามี 3 รูปแบบ คือ

1. Palm Grip

- การเคลื่อนเมาส์จะกระทำโดยข้อมือและปลายแขน

- มีข้อดีคือผู้จับเมาส์จะสามารถจับได้เป็นเวลานานโดยไม่เมื่อยมือ 

Palm Grip

2.Claw Grip

- การจับเมาส์แบบ Claw Grip มีข้อดีคือจะทำให้ผู้ใช้เมาส์ทำการคลิกได้เร็วขึ้นเนื่องจากแรงกดจะมาจากปลายนิ้วเพียงอย่างเดียวซึ่งจะออกแรงได้ง่ายกว่า

- การใช้ปลายนิ้วจับที่บริเวณตัวเมาส์จะทำให้การควบคุมทิศทางทำได้ง่ายขึ้น

- ผู้ที่จับเมาส์แบบ Claw Grip มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการเมื่อยที่นิ้วมือได้ง่ายกว่าแบบ Palm Grip 

Claw Grip

3.Fingertip Grip

- เป็นการจับแบบที่จะไม่ใช้ฝ่ามือสัมผัสกับตัวเมาส์ แต่จะใช้ปลายนิ้วทั้ง 5 ในการจับ เช่นเดียวกับการเลื่อนเมาส์ที่จะใช้แค่ปลายนิ้วเท่านั้นในการควบคุมทิศทาง

- การจับเมาส์แบบนี้ทำให้ผู้จับสามารถเลื่อนเมาส์ได้เร็วกว่าการจับเมาส์แบบอื่น

- ข้อเสียคือจะทำให้ผู้ใช้รู้สึกเมื่อยมือได้ง่ายที่สุดเมื่อเทียบกับการจับเมาส์แบบอื่น

Fingertip Grip

ลำดับตามความเสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บของท่าการจับเม้าส์ เรียงจากความเสี่ยงต่ำไปสูง คือ Palm Grip < Claw Grip < Fingertip Grip 

***ท่าที่ดีที่สุด คือ ท่าที่ 1 Palm Grip เป็นท่าที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดการบาดเจ็บของข้อมือ***

ท่าที่ดีที่สุด คือ ท่าที่ 1 Palm Grip เป็นท่าที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดการบาดเจ็บของข้อมือ

แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะป้องกันการบาดเจ็บจากการใช้เม้าส์นั้นคือ

1. ควรจะจับเม้าส์ให้ข้อมืออยู่ในท่าตรงปกติ ไม่กระดกข้อมือขึ้น 

2. ควรหาผ้าขนหนูม้วนวางรองใต้ข้อมือ หรือแผ่นรองเม้าส์ที่มีเจลหรือโฟม รองรับบริเวณข้อมือ

3. เลือกขนาดของเม้าส์ให้เหมาะสมพอดีกับมือจะหนุนส่วนโค้งของมือ เม้าส์ที่ใหญ่กว่าฝ่ามือทำให้คุณต้องใช้กล้ามเนื้อแขนที่ใหญ่กว่า มากกว่าที่จะใช้กล้ามเนื้อข้อมือที่เล็กกว่า ซึ่งจะทำให้เกิดอาการอ่อนล้าและเกิดโรคกระดูกผิดรูป


คีย์บอร์ด

คีย์บอร์ด

แป้นพิมพ์ปกติจะบังคับให้ข้อมือเรามีการเบี่ยงออกเล็กน้อย(ปลายนิ้วมือชี้ออกด้านนอก) ทำให้ข้อไหล่ของเรามีการหมุนเข้าด้านใน ส่งผลให้มีแรงกดไปอยู่ที่บริเวณปลายแขนและข้อมือ ส่งผลทำให้เกิดการบาดเจ็บที่บริเวณข้อมือได้

แป้นพิมพ์ปกติ

ดังนั้นเราควรจะหาผ้าขนหนูม้วนมารองบริเวณข้อมือเพื่อปรับให้ข้อมืออยู่ในแนวปกติ ลดแรงกดบริเวณข้อมือ

ผ้าขนหนูม้วนมารองบริเวณข้อมือเพื่อปรับให้ข้อมืออยู่ในแนวปกติ


เมื่อเราปรับเม้าส์และคีย์บอร์ดแล้ว ต้องทำสิ่งต่อไปนี้ดังนี้

1. Rest : พักการใช้งาน จำไว้ทุกครั้งร่างกายต้องการพัก แนะนำให้ตั้งเวลาทุกๆ 45 นาที - 1 ชั่วโมง ให้พักการใช้งาน 5-10 นาที

2. Stretch&Strength : เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนี้

2.1  ท่ากล้ามเนื้อท้องแขนท่อนล่าง 

วิธีทำ : เหยียดข้อศอกให้สุด กระดกข้อมือขึ้น ใช้มืออีกข้างดันมือเข้าหาลำตัวจนรู้สึกตึง แต่ไม่เจ็บ นับค้างไว้ 15 วินาที ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง เมื่อครบแล้วสลับข้าง

Stretch&Strength

2.2  ท่ากล้ามเนื้อหลังแขนท่อนล่าง 

วิธีทำ : เหยียดข้อศอกให้สุด คว่ำและกดข้อมือลง ใช้มืออีกข้างดันมือเข้าหาลำตัวจนรู้สึกตึง แต่ไม่เจ็บ นับค้างไว้ 15 วินาที ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง เมื่อครบแล้วสลับข้าง

ท่ากล้ามเนื้อท้องแขนท่อนล่าง

2.3 ท่าบีบมือ

วิธีทำ : บีบลูกบอลและปล่อย ทำ 15 ครั้ง/ชุด 3ชุดต่อวัน เมื่อครบแล้วสลับข้าง

ท่าบีบมือ

2.4 ท่าคว่ำมือและกระดกข้อมือขึ้น

วิธีทำ : แขนวางบนโต๊ะในท่าคว่ำมือ และยื่นออกมาเล็กน้อย ถือขวดน้ำ และค่อยๆกระดกข้อมือขึ้น (ท่าบิดรถจักรยานยนต์) ทำ 15 ครั้ง/ชุด 3ชุดต่อวัน เมื่อครบแล้วสลับข้าง

ท่าคว่ำมือและกระดกข้อมือขึ้นท่าคว่ำมือและกระดกข้อมือขึ้น

2.5 ท่าหงายมือและกระดกข้อมือขึ้น

วิธีทำ : แขนวางบนโต๊ะในท่าหงายมือ และยื่นออกมาเล็กน้อย ถือขวดน้ำ และค่อยๆกระดกข้อมือขึ้น  ทำ 15 ครั้ง/ชุด 3ชุดต่อวัน เมื่อครบแล้วสลับข้าง

ท่าหงายมือและกระดกข้อมือขึ้นท่าหงายมือและกระดกข้อมือขึ้น

ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม หากมีอาการปวด ชา ควรไปพบแพทย์และนักกายภาพบำบัด เพื่อเข้ารับการประเมินสาเหตุและได้รับการรักษาที่เหมาะสม

 

สอบถามเพิ่มเติมที่ "รีแฮป แคร์ คลินิก"

ที่อยู่ : 423 ถนนเพชรเกษม แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กทม. (อยู่ในศูนย์กีฬากันอริ ก่อนถึงซีคอนบางแค) ? 061-801-2482 Line ID : @rehabcare

 

ทำงานคอมฯ จับเมาส์ เขียนหนังสือเยอะๆ ก็มือชาได้ !!!
Posted: July 12, 2021 By: adminrehabcare2 Categories:  Comment:  0

กลุ่มอาการเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณข้อมือ (carpal tunnel syndrome) หนึ่งในกลุ่มโรคออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) กลุ่มอาการที่พบบ่อย เกิดขึ้นกับกลุ่มคนวัยทำงานที่มีลักษณะงานที่ต้องนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ หรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยท่าทางซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมงต่อวัน หรืออยู่ในท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสมต่อเนื่องนานๆ

กลุ่มอาการเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณข้อมือ
 

อาการ

- ปวด ชาฝ่ามือและนิ้วมือ โดยเฉพาะนิ้วโป้ง ชี้ กลาง และนิ้วนางครึ่งนิ้ว อาจรู้สึกเหมือนถูกไฟช็อต

- ปวดมากตอนกลางคืนหรือตื่นนอนตอนเช้า

- เมื่อยล้าง่ายเมื่อมีการพิมพ์คอม เขียนหนังสือ หยิบจับโทรศัพท์มือถือ อ่านหนังสือ ขับรถยนต์

- เมื่อสะบัดข้อมืออาการปวด ชาจะทุเลาลง

- เมื่อเป็นนานๆกล้ามเนื้อมือก็จะมีการอ่อนแรง และกล้ามเนื้อลีบ การรับความรู้สึกของมือจะลดลง


สาเหตุ 

- พันธุกรรม โดยผู้ที่มีข้อมือเล็ก เช่น ผู้หญิง เสี่ยงต่อการบีบอัดหรือกดทับเส้นประสาทมีเดียนสูง

- ความผิดปกติด้านโครงสร้าง เช่น ข้อมือหักหรือเคลื่อน ซึ่งอาจทำให้เส้นประสาทมีเดียนถูกกดทับได้

- การใช้งานมือและข้อมือที่ไม่เหมาะสม โดยผู้ที่เคลื่อนไหวมือกับข้อมือในลักษณะเดียวติดต่อกันเป็นเวลานาน การใช้งานคอมพิวเตอร์ และการงอข้อมือซ้ำ ๆ 

- เส้นประสาทถูกทำลายจากโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีเส้นประสาทมือถูกทำลายมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็น Carpal Tunnel Syndrome

- การอักเสบของเนื้อเยื่อบริเวณข้อมือ เช่น ข้อมืออักเสบ ซึ่งมีผลต่อเยื่อบุรอบเอ็นยึดข้อมือ และอาจทำให้เส้นประสาทมีเดียนถูกกดทับ

- ภาวะอ้วน เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เส้นประสาทข้อมือถูกบีบอัดหรือรับแรงกดจนเกิด Carpal Tunnel Syndrome ได้เช่นกัน

- การเกิดของเหลวคั่งในร่างกาย ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในผู้ที่ตั้งครรภ์ หรือผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน จนทำให้เส้นประสาทมีเดียนถูกกดทับ

- ภาวะอื่น ๆ เช่น โรคไฮโปไทรอยด์ ความผิดปกติของต่อมใต้สมอง และไตวาย


การวินิจฉัยโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ

แพทย์จะวินิจฉัยจากการซักประวัติ เพื่อทำการแยกโรคที่เป็นสาเหตุ ร่วมกับการตรวจร่างกายเพิ่มเติม ด้วยวิธีอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ ดังนี้

1. การทดสอบพิเศษ (Provocation test)

1.1 Phalen’s test: ให้ผู้ป่วยวางข้อศอกบนโต๊ะ หลังจากนั้นให้อยู่ในท่า fully flexion of wrist ทิ้งไว้ประมาณ 1 นาที หากมีอาการชาขึ้นมาตาม median nerve distribution จะให้ผล positive 

Phalen’s test

1.2 Tinel’s sign: ให้ผู้ตรวจเคาะลงบริเวณ median nerve ส่วนใหญ่คือ proximal ต่อ distal wrist crease ประมาณ 0.5-1 cm ระหว่าง flexor carpi radialis และ palmaris longus หากเคาะแล้วผู้ป่วยมีภาวะปวดหรือความรู้สึกไฟช๊อตตาม median nerve distribution จะถือว่า  positive 

Tinel’s sign

2. การตรวจการนำไฟฟ้าของเส้นประสาท(Electrodiagnosis) เป็นการช่วยยืนยันในการวินิจฉัย และพยากรณ์โรค

3. การตรวจด้วยรังสีวิทยา

- เอกซเรย์ (X-ray) เพื่อดูโครงสร้างของมือ ด้วยการฉายภาพรังสี ซึ่งช่วยคัดกรอง โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือจากโรคอื่นๆ เช่นข้ออักเสบ เอ็นยึดบาดเจ็บ และกระดูกหัก

- อัลตราซาวด์ (Ultrasound diagnosis) เพื่อวิเคราะห์การบีบอัดของเส้นประสาทมีเดียน ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง  

- การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Magnetic Resonance Imaging (MRI) เพื่อดูเนื้อเยื่อบริเวณเส้นประสาทมีเดียนที่ผิดปกติ จากการสแกนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่นแผลเป็นจากการบาดเจ็บ หรือเนื้องอกบริเวณข้อมือ 
 

วิธีการรักษา

1. การรักษาด้วยยารับประทาน จำพวกวิตามินบี ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID)


2. การรักษาด้วยยาฉีดเฉพาะที่จำพวกสเตียรอยด์ (Steroid) เข้าไปในช่องลอดของฝ่ามือ เพื่อลดการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบเส้นประสาท


3. การรักษาโดยการใส่กายอุปกรณ์ เพื่อพักการเคลื่อนไหวของข้อมือ เพราะถ้าข้อมืองอหรือกระดูกขึ้น จะทำให้เกิดการเพิ่มแรงดันภายในช่องลอด ความดันที่เพิ่มขึ้นจะไปกดหลอดเลือดเล็กๆ ของเส้นประสาท ทำให้เลือดไปเลี้ยงเส้นประสาทน้อยลง


4. การทำกายภาพบำบัด โดยการรักษาจะใช้เครื่องHigh power laser อัลตร้าซาวด์ ประคบร้อนเพื่อคลายพังผืดที่ทับเส้นประสาท การขยับข้อต่อของข้อมือ การยืดกล้ามเนื้อ เป็นต้น 


5. การผ่าตัด โดยการตัดเยื่อพังผืดส่วนผนังทางด้านฝ่ามือของช่องลอดที่คลุมเส้นประสาท เพื่อขยายปริมาตรของช่องลอด และลดความดันภายในช่องลอด
 

วิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้น

- พักการใช้งานของมือ หรือระหว่างการทำงาน โดยเฉพาะหากต้องทำงานกับเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ที่สั่นและต้องใช้แรงมาก ควรพักมือเป็นระยะ โดยยืดกล้ามเนื้อข้อมือและแขน ขยับข้อมือเบาๆ

- ถ้าทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ หรือต้องพิมพ์งานบ่อยๆ ควรหาแผ่นเม้าส์ที่มีเจลสำหรับรองข้อมือ เมื่อใช้เม้าส์ และผ้านุ่มๆ หรือฟองนํ้ามารองข้อมือขณะพิมพ์แป้นคีย์บอร์ด

แผ่นเม้าส์ที่มีเจลสำหรับรองข้อมือ เมื่อใช้เม้าส์ และผ้านุ่มๆ

- หลีกเลี่ยงการนอนทับมือ และสวมเฝือกข้อมือในเวลากลางคืน

หลีกเลี่ยงการนอนทับมือ และสวมเฝือกข้อมือในเวลากลางคืน

- ประคบอุ่น/แช่น้ำอุ่น 15-20 นาที

-ที่สำคัญที่สุด ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆเพื่อทำการตรวจรักษา และร่วมกับการทำกายภาพบำบัด จะเป็นการรักษาที่ดีโดยไม่ต้องผ่าตัด

 

สอบถามเพิ่มเติมที่ "รีแฮป แคร์ คลินิก"

ที่อยู่ : 423 ถนนเพชรเกษม แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กทม. (อยู่ในศูนย์กีฬากันอริ ก่อนถึงซีคอนบางแค) ? 061-801-2482 Line ID : @rehabcare