Skip to main content

TibialisPosteriorTendonitis

ปวดฝ่าเท้า เกี่ยวข้องอะไรกับเท้าแบน ???
Posted: July 09, 2021 By: adminrehabcare2 Categories:  Comment:  0

ปวดฝ่าเท้า เกี่ยวข้องอะไรกับเท้าแบน ???ปวดฝ่าเท้า เกี่ยวข้องอะไรกับเท้าแบน ???


ผู้ป่วยชายไทย อายุ 49 ปี มาด้วยอาการปวดฝ่าเท้าข้างขวา และเจ็บบริเวณใต้ตาตุ่มด้านในของเท้าข้างขวา เป็นมาประมาณ 5 เดือน จะมีอาการปวดมากขึ้นเมื่อมีการลงน้ำหนัก เช่นยืน เดิน เป็นต้น โดยสอบถามจากประวัติพบว่าลักษณะงานของผู้ป่วยจะมีการยืน เดิน อยู่ตลอดเวลา

การตรวจร่างกายในผู้ป่วยรายนี้พบว่า

1. ฝ่าเท้ามีลักษณะแบน โดยที่ข้างขวาจะแบนกว่าข้างซ้าย

2. พบอาการบวมจากการอักเสบที่บริเวณ Tibialis posterior tendon

3. เมื่อทำการเคลื่อนไหว ไปในทิศทางกระดกปลายเท้าขึ้น ถีบปลายเท้าลง หมุนปลายเท้าเข้าด้านใน หมุนปลายเท้าออกทางด้านนอก พบว่ามีอาการปวดเพิ่มมากขึ้น

4. พบจุดกดเจ็บบริเวณใต้ตาตุ่มด้านในของเท้าขวา และบริเวณหน้าแข้งด้านใน

ในผู้ป่วยรายนี้อาจจะมีอาการปวดของ Tibialis posterior tendon มาก่อน จึงส่งผลให้เกิดภาวะเท้าแบนตามมา โดยหน้าที่หลักของเอ็นกล้ามเนื้อ คือการถีบปลายเท้าลง (plantar flexion) และหมุนส้นเท้าเข้าด้านใน (inversion) ซึ่งกล้ามเนื้อนี้ยังมีหน้าที่สำคัญคือ เป็น Dynamic stabilizer ของอุ้งเท้า ทำให้อุ้งเท้ายกสูงขึ้น แต่เมื่อใดที่กล้ามเนื้อนี้มีอาการบาดเจ็บ ทำงานได้ไม่เต็มที่ ก็จะทำให้อุ้งเท้ามีลักษณะที่แบนตามมา และเมื่อผู้ป่วยมีการเดินลงน้ำหนัก

ในขณะที่ยังมีอาการบาดเจ็บของเอ็นกล้ามเนื้อนี้อยู่ จะทำให้เท้าบริเวณส่วนหน้ามีการปัดออกไปทางด้านนอก (forefoot abduction) ส้นเท้าบิดออกไปทางด้านนอก (hindfoot valgus) และกระดูก talus เทลงด้านใน เป็นผลให้อุ้งเท้าด้านในนั้นก็จะหายไป น้ำหนักที่ลงจึงลงผิดจุดทำให้มีการไปยืดต่อตัวเอ็นกล้ามเนื้อนี้อีก ทำให้ผู้ป่วยยังคงมีอาการปวดอยู่เรื่อยๆ


วิธีการรักษาทางกายภาพบำบัด       

- High laser power

- TENS กระตุ้นไฟฟ้าลดปวด

- Ultrasound 

- Stretching & Exercise

High laser powerTENS กระตุ้นไฟฟ้าลดปวด

 


วิธีการออกกำลังกาย

1. นั่งเอาผ้าคล้องที่ฝ่าเท้า แล้วออกแรงดึงเข้าหาตัว นับค้างไว้ 15 วินาที ทำซ้ำ 5 รอบ

นั่งเอาผ้าคล้องที่ฝ่าเท้า

2. ยืนเขย่งปลายเท้าขึ้นและลง โดยหนีบลูกบอลลูกเล็กๆ
หากมีอาการปวดให้เปลี่ยนเป็นทำในท่านั่งแทน ทำ 10-15 ครั้ง/ชุด จำนวน 3 ชุด

ยืนเขย่งปลายเท้าขึ้นและลง

3. นั่งเท้าวางบนพื้น แล้วใช้ยางยืดดึงไว้ทางด้านนอก
ออกแรงหมุนฝ่าเท้ากลับเข้ามาทางด้านใน ทำ 10-15 ครั้ง/ชุด จำนวน 3 ชุด

นั่งเท้าวางบนพื้น


วิธีการดูแลตนเอง

นอกจากการออกกำลังกายแล้ว การเลือกรองเท้า หรือ แผ่นรองรองเท้า เป็นสิ่งที่สำคัญในการรองรับการลงน้ำหนักของโครงสร้างเท้าแบนที่เป็นอยู่แล้วเพื่อให้การทำงานของกล้ามเนื้อเท้าและขาถูกต้อง เพื่อป้องกันผลเสียระยะยาวที่จะตามมา 


เราจะแบ่งประเภทเท้าแบนอย่างไร ? 

แบบการทดสอบเท้าแบนอย่างง่าย ใช้การทดสอบที่เรียกว่า Jack Test  

วิธีการทดสอบ : โดยให้ยกนิ้วโป้งเท้าขึ้นทั้ง 2 ข้าง
1. ถ้ายกแล้วมีอุ้งเท้า ตามรูป เรียกได้ว่าเป็นเท้าแบนแบบยืดหยุ่น Functional Flatfoot 
2. ถ้ายกแล้วไม่มีอุ้งเท้า ตามรูป เรียกได้ว่าเป็นเท้าแบนโดยโครงสร้าง Nonfunctional Flatfoot


ประเภทของเท้าแบนและวิธีการรักษา

1. เท้าแบนโดยโครงสร้าง (Nonfunctional Flatfoot )

การใส่รองเท้าที่เสริมอุ้งเท้าจะทำให้เกิดการบาดเจ็บ การรักษาทำได้โดยการฝ่าตัด และการเลือกใส่รองเท้าที่มีพื้นรองเท้ากว้างและความนุ่มสบายเท้า

2. เท้าแบนแบบยืดหยุ่น (Functional Flatfoot )

การเลือกใส่รองเท้าที่มีการเสริมความโค้งของอุ้งเท้า แต่ในทางการรักษาจะทำได้โดยการทำแผ่นรองในรองเท้าสำหรับผู้ป่วยเฉพาะบุคคลเพื่อรองรับกระดูกเท้าพร้อมกับการเสริมอุ้งเท้า รวมทั้งการพลิกมุมกระดูก กล้ามเนื้อเท้า เอ็นร้อยหวาย และกล้ามเนื้อน่อง ให้อยู่ในแนวเส้นตรง จะช่วยให้เวลายืนหรือเดิน ข้อเท้าจะอยู่ในแนวเส้นตรง และหากใส่เป็นประจำ จะสามารถสร้างให้อุ้งเท้ามีกลับมาได้และกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องทำงานได้อย่างเหมาะสม


แผ่นรองในรองเท้าสำหรับผู้ป่วยเท้าแบน

1. แผ่นลดการลงน้ำหนักที่จมูกเท้า (Metatarsal Pad)

เนื่องจากคนเท้าแบนส่วนใหญ่มีอุ้งเท้าที่แบนราบ และแนวการเดินของเท้าที่มีแนวแรงการลงน้ำหนักค่อนเข้ามาทางฝั่งด้านในมากกว่าปกติ จึงเป็นผลให้จมูกเท้าที่ 1-3 (1st – 3rd Metatarsal Head) มีการลงน้ำหนักที่มากกว่าปกติ การเสริมแผ่นลดการลงน้ำหนักที่จมูกเท้า (Metatarsal Pad) จะเป็นการลดแรงกระทำต่อจมูกเท้าและกระจายแนวแรงที่เกิดขึ้นไปบริเวณกระดูกส่วนกลางเท้า (neck and shaft of Metatarsal Bones) 

2. เสริมอุ้งเท้าฝั่งด้านใน (Medial Arch Support)

เพื่อดันเพิ่มให้เกิดกล้ามเนื้อของอุ้งเท้าและโครงสร้างกระดูกเท้าที่ปกติ และ ป้องกันการแบนล้มของอุ้งเท้าเข้ามาทางฝั่งด้านในในช่วงการยืนและเดิน

3. เสริมลิ่มฝั่งด้านในของส้นเท้าเพื่อพลิกตะแคงส้นเท้าให้อยู่ในมุมที่ปกติ (Supinator Posterior Wedge)

เพื่อแก้ไขและป้องกันการตะแคงล้มเข้ามาทางฝั่งด้านในของกระดูกส้นเท้า ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาเท้าแบนและแนวเท้าที่ผิดปกติ โดยการยกให้กระดูกส้นเท้าฝั่งด้านในให้หงายขึ้น

แผ่นรองในรองเท้าสำหรับผู้ป่วยเท้าแบน