เครื่องกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (PMS : Peripheral Magnetic Stimulation)
เครื่องกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ Peripheral Magnetic Stimulation : PMS เป็นเครื่องมือที่ใช้รักษาอาการปวด โดยใช้วิธีการกระตุ้นระบบประสาทด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic) ซึ่งสามารถกระตุ้นผ่านเสื้อผ้าได้โดยไม่ต้องสัมผัสผิว คลื่นลงได้ลึกถึง 10 เซนติเมตร ไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อรอบๆ และทำให้เกิดกระบวนการกระตุ้น (Depolarization) ส่งผลให้ระบบไหลเวียนโลหิตดียิ่งขึ้น เกิดการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อ ทำให้การบาดเจ็บ อาการปวด และอาการชาลดลง นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงและชะลอการฝ่อของกล้ามเนื้อ และยังช่วยลดอาการเกร็งในผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
PMS เหมาะกับใครบ้าง ?
1. ผู้ที่มีอาการปวดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดเฉียบพลัน หรืออาการปวดเรื้อรังที่มาจากการใช้งานกล้ามเนื้อในลักษณะซ้ำๆ เช่น โรคออฟฟิศซินโดรม การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา การบาดเจ็บจากการทำงาน
2. ผู้ที่มีอาการชา หรืออ่อนแรง ซึ่งเป็นผลมาจากความผิดปกติเส้นประสาทส่วนปลาย เช่น เส้นประสาทถูกกดทับ เส้นประสาทบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน
3. ผู้ที่มีภาวะอ่อนแรงครึ่งซีก จากโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคสมองอื่นๆ
ผลข้างเคียงและข้อควรระวังของการใช้ PMS
1. ควรถอดอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์และโลหะต่างๆ ก่อนรับการรักษา เช่น โทรศัพท์มือถือ นาฬิกา บัตรเครดิต กุญแจรถ หัวเข็มขัด กระดุมบนกางเกง เป็นต้น เนื่องจากจะเกิดความร้อนสะสมที่วัสดุโลหะที่อยู่ใกล้ๆ เกิดการเหนี่ยวนำด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และอาจส่งผลเสียต่ออุปกรณ์นั้นๆ ได้
2. ต้องทำโดยแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากมีโอกาสทำให้กล้ามเนื้อระบม ล้า หรือเป็นตะคริวได้ประมาณ 2 - 3 วัน
3. ห้ามใช้ในผู้ป่วยเนื้องอก ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ เคยผ่าตัดใส่เหล็กดาม และเครื่องมืออื่นๆ รวมถึงห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์