แม้ว่ากีฬากอล์ฟจะเป็นกีฬาที่ใช้พละกำลังน้อย ไม่ต้องใช้ความเร็วในการเล่น และไม่มีการปะทะกัน แต่วงสวิงของกอล์ฟจะต้องใช้การเคลื่อนไหวหลายส่วน ทั้งลำตัว เอว ไหล่และแขน และยังมีแรงกระชากแรงบิดภายในเสี้ยววินาที ดังนั้นหากมีกล้ามเนื้อที่ไม่แข็งแรง ขาดการวอร์มและยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่เหมาะสม หรือเล่นผิดวิธี ก็จะทำให้เกิดการบาดเจ็บตามมาได้
การบาดเจ็บในนักกีฬากอล์ฟมืออาชีพมักเกิดจากการทำในท่าเดิมซ้ำๆ หรือการฝึกที่เยอะเกินไป แต่ในนักกีฬากอล์ฟมือสมัครเล่นมักเกิดจากสภาพร่างกายที่ไม่พร้อม ขาดความยืดหยุ่น ขาดการเตรียมพร้อมหรือวอร์มร่างกาย เทคนิคหรือวงสวิงที่ผิดวิธี ท่าทางในการตี รวมไปถึงพื้นผิวที่ตีด้วย ซึ่ง 3 ลำดับการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยในนักกีฬากอล์ฟมืออาชีพและมือสมัครเล่นมีดังนี้ สำหรับนักกีฬากอล์ฟมืออาชีพ คือ หลังส่วนล่าง ข้อมือ และหัวไหล่ ส่วนนักกีฬากอล์ฟมือสมัครเล่น คือ หลังส่วนล่าง ข้อศอก และข้อมือ
1. หลังล่าง (Low back pain) เป็นบริเวณที่เกิดการบาดเจ็บได้บ่อยที่สุด เพราะกล้ามเนื้อบริเวณนี้มีบทบาทสำคัญในการเหวี่ยงไม้กอล์ฟ ซึ่งการเหวี่ยงที่ เรียกว่า “Classic Swing” จะค่อนข้างเป็นวงแนวระนาบ (relatively flat swing) และจบวงสวิงในท่าหลังตรง (I position) ส่วนการเหวี่ยง ที่เรียกว่า “Modern Swing” มีการหมุนไหล่กว้าง จำกัดการหมุนของข้อสะโพกในจังหวะเงื้อไม้ (back swing) และจบวงสวิงในท่าแอ่นหลัง (reverse C) ทำให้มีแรงบิด (torque) ต่อหลังและไหล่มากขึ้น จึงทำให้การเหวี่ยงแบบ Modern Swing มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บต่อหลังส่วนล่างมากกว่า ซึ่งอาจทำให้เกิด กล้ามเนื้อหลังอักเสบ หมอนรองกระดูกปลิ้น กระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกสันหลังเคลื่อนได้
2.หัวไหล่ (Shoulder pain) เป็นบริเวณที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ เพราะข้อไหล่มีการทำงานที่ซับซ้อน และวงสวิงของกีฬากอล์ฟต้องใช้องศาการเคลื่อนไหวที่กว้าง ทำให้เกิดแรงกระทำต่อข้อไหล่ และข้อไหล่ถูกยืด ซึ่งทำให้เกิดกลุ่มอาการกดเบียดภายในข้อไหล่ หรือเอ็นข้อไหล่ฉีกได้
3. ข้อศอก (Elbow tendinosis) เนื่องจากมีแรงกระแทกขณะที่ไม้กอล์ฟกระทบกับลูกกอล์ฟ ทำให้เส้นเอ็นบริเวณข้อศอกเกิดแรงตึงจนเกิดการบาดเจ็บและอักเสบได้ มักเกิดกับนักกอล์ฟมืออาชีพ โรคที่พบบ่อย ได้แก่ golfer elbow และ tennis elbow
หากเกิดการบาดเจ็บจากการเล่นกอล์ฟ หลังบาดเจ็บทันทีแนะนำให้พักและประคบเย็น หากไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งการรักษามีตั้งแต่การรับประทานยา การกายภาพบำบัดด้วยเครื่องมือ เช่น Focus shockwave และ high power laser เพื่อลดปวดและเร่งกระบวนการซ่อมแซม จนไปถึงการฉีดยา เช่น การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น หรือ PRP ซึ่งเหมาะกับคนที่เป็นมานานเรื้อรัง จะช่วยลดการอักเสบและเร่งกระบวนการฟื้นฟูให้เร็วขึ้น โดยการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการที่เป็น ใครบาดเจ็บไม่ควรปล่อยไว้ ยิ่งปล่อยไว้นานจะยิ่งรักษายาก
กภ. พัชรพร (พิงค์กี้)
Reference
https://simonmoyes.com/magazine/sports-medicine/the-common-golf-injuries/
https://www.rehabmed.or.th/main/wp-content/uploads/2015/01/L-180.pdf.
https://www.thaiscience.info/journals/Article/SRMJ/10823954.pdf.
https://www.professionalevents.co.uk/_images/_products2downloads/109_317.pdf
สำหรับนักกีฬาหรือคนที่ชอบการเล่นกีฬาคงจะหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นไม่ได้ ฟุตบอลเป็นหนึ่งในกีฬาที่เป็นสาเหตุให้เกิดการบาดเจ็บได้โดยง่าย เนื่องจากเป็นกีฬาที่ต้องใช้ความเร็ว เปลี่ยนทิศทางกะทันหัน และเกิดการปะทะ ซึ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บต่างๆได้ ดังนี้
1. เส้นเอ็นข้อเข่าบาดเจ็บ (Knee ligaments sprain) โดยเส้นเอ็นข้อเข่า(knee ligaments) จะมี 4 เส้น ประกอบไปด้วย
- เอ็นไขว้หน้า (ACL ; Anterior Cruciate Ligament)
- เอ็นไขว้หลัง (PCL ; Posterior Cruciate Ligament)
- เอ็นข้างด้านใน (MCL ; Medial Collateral Ligament)
- เอ็นข้างด้านนอก (LCL ; Lataral Collateral Ligament)
ซึ่งเส้นเอ็นข้อเข่าจะเชื่อมอยู่ระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง มีหน้าที่ช่วยรักษาและพยุงความมั่นคงของข้อเข่าไว้ในขณะทำกิจกรรม ซึ่งในกีฬาฟุตบอลที่มีการวิ่ง กระโดด กระแทก เปลี่ยนทิศทางกะทันหัน หรือเกิดการปะทะกัน ซึ่งทำให้ข้อเข่าโดนกระแทกหรือบิดหมุน เกิดแรงกระทำภายในข้อเข่า ส่งผลให้เส้นเอ็นข้อเข่าอาจจะเกิดการอักเสบหรือฉีกขาดได้ โดยจะมีอาการปวดบริเวณเข่า (ขึ้นอยู่กับเส้นเอ้นที่บาดเจ็บ) เข่าบวม รู้สึกเข่าไม่มั่นคง
2. หมอนรองเข่าบาดเจ็บหรือฉีกขาด (Meniscus tear) โดยหมอนรองเข่ามี 2 ส่วน ประกอบไปด้วย
- หมอนรองเข่าด้านใน (Medial meniscus)
- หมอนรองเข่าด้านนอก (Lateral meniscus)
ซึ่งหมอนรองเข่าจะอยู่ภายในข้อเข่า อยู่ระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง มีหน้าที่ช่วยพยุงและรับแรงกระแทกที่เกิดภายในข้อเข่า ป้องกันการเสียดสีกันของกระดูก โดยในกีฬาฟุตบอลที่มีการวิ่ง กระโดด การเปลี่ยนทิศทางกะทันหัน หรืออุบัติเหตุขณะเล่น ซึ่งทำให้ข้อเข่าเกิดการบิดหมุน เกิดแรงกระทำภายในข้อเข่า ส่งผลให้หมอนรองเข่าบาดเจ็บ อักเสบ หรือฉีกขาดได้ โดยจะมีอาการปวดภายในข้อเข่า เข่าบวม ตึง หรืออาจรู้สึกว่าเข่าล็อกติดๆขัดๆ จะปวดมากขณะลงน้ำหนัก
3. กล้ามเนื้อต้นขาบาดเจ็บ (Muscle strain)
กล้ามเนื้อต้นขานั้นจะมีหลายมัด แต่กล้ามเนื้อที่บาดเจ็บที่พบได้บ่อยที่สุดคือ กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (Hamstrings) และกล้ามเนื้อขาหนีบ (Groin) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่มีขนาดใหญ่ ทำหน้าที่เพิ่มแรงในขณะวิ่งและแรงในการเตะ ซึ่งในบางครั้งหากใช้แรงและเร็วมากเกินไป อาจจะเกิดแรงกระชากต่อกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อถูกยืดและฉีกขาดกะทันหันได้ โดยจะมีอาการปวดบริเวณต้นขาด้านหลังหรือบริเวณขาหนีบ ปวดมากขณะขยับขาหรือเดินลงน้ำหนัก
การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นเหล่านี้สามารถป้องกันได้หากมีการเตรียมตัวที่ดีพอ เช่น ยืดกล้ามเนื้อทั้งก่อนและหลังเล่นกีฬา มีการ Warm up – Cool down เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อช่วงล่าง สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันและเสื้อผ้าที่เหมาะสม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนที่เพียงพอ และหากยังมีอาการบาดเจ็บเกิดขึ้น เบื้องต้นแนะนำให้พักและประคบเย็นทันที แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุขณะเล่นแนะนำว่าควรตรวจเพิ่มเติมกับแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจประเมินและรับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมเพื่อป้องกันการบาดเจ็บเรื้อรัง และทำให้กลับไปเล่นกีฬาได้โดยเร็ว
กภ.ธนพร (ออย)
Reference
https://he01.tci-thaijo.org/index.php/KBJ/article/download/248045/167992/899052
https://www.orthocarolina.com/media/the-3-big-football-injuries-you-should-know-about
https://www.bupa.co.uk/newsroom/ourviews/common-football-injuries
https://www.physio-pedia.com/Meniscal_Lesions
https://www.physio-pedia.com/Hamstring_Strain
https://www.physio-pedia.com/Category:Knee_Injuries