Skip to main content

3 อันดับการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยในนักกีฬาฟุตบอล

3 อันดับการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยในนักกีฬาฟุตบอล
Posted: September 23, 2024 By: adminrehabcare2Categories: บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา, ปวดเข่าComment:  0

สำหรับนักกีฬาหรือคนที่ชอบการเล่นกีฬาคงจะหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นไม่ได้ ฟุตบอลเป็นหนึ่งในกีฬาที่เป็นสาเหตุให้เกิดการบาดเจ็บได้โดยง่าย เนื่องจากเป็นกีฬาที่ต้องใช้ความเร็ว เปลี่ยนทิศทางกะทันหัน และเกิดการปะทะ ซึ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บต่างๆได้ ดังนี้

1. เส้นเอ็นข้อเข่าบาดเจ็บ (Knee ligaments sprain) โดยเส้นเอ็นข้อเข่า(knee ligaments) จะมี 4 เส้น ประกอบไปด้วย 
- เอ็นไขว้หน้า (ACL ; Anterior Cruciate Ligament)
- เอ็นไขว้หลัง (PCL ; Posterior Cruciate Ligament)
- เอ็นข้างด้านใน (MCL ; Medial Collateral Ligament)
- เอ็นข้างด้านนอก (LCL ; Lataral Collateral Ligament)

ซึ่งเส้นเอ็นข้อเข่าจะเชื่อมอยู่ระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง มีหน้าที่ช่วยรักษาและพยุงความมั่นคงของข้อเข่าไว้ในขณะทำกิจกรรม ซึ่งในกีฬาฟุตบอลที่มีการวิ่ง กระโดด กระแทก เปลี่ยนทิศทางกะทันหัน หรือเกิดการปะทะกัน ซึ่งทำให้ข้อเข่าโดนกระแทกหรือบิดหมุน เกิดแรงกระทำภายในข้อเข่า ส่งผลให้เส้นเอ็นข้อเข่าอาจจะเกิดการอักเสบหรือฉีกขาดได้ โดยจะมีอาการปวดบริเวณเข่า (ขึ้นอยู่กับเส้นเอ้นที่บาดเจ็บ) เข่าบวม รู้สึกเข่าไม่มั่นคง

2. หมอนรองเข่าบาดเจ็บหรือฉีกขาด (Meniscus tear) โดยหมอนรองเข่ามี 2 ส่วน ประกอบไปด้วย
- หมอนรองเข่าด้านใน (Medial meniscus)
- หมอนรองเข่าด้านนอก (Lateral meniscus)

ซึ่งหมอนรองเข่าจะอยู่ภายในข้อเข่า อยู่ระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง มีหน้าที่ช่วยพยุงและรับแรงกระแทกที่เกิดภายในข้อเข่า ป้องกันการเสียดสีกันของกระดูก โดยในกีฬาฟุตบอลที่มีการวิ่ง กระโดด การเปลี่ยนทิศทางกะทันหัน หรืออุบัติเหตุขณะเล่น ซึ่งทำให้ข้อเข่าเกิดการบิดหมุน เกิดแรงกระทำภายในข้อเข่า ส่งผลให้หมอนรองเข่าบาดเจ็บ อักเสบ หรือฉีกขาดได้ โดยจะมีอาการปวดภายในข้อเข่า เข่าบวม ตึง หรืออาจรู้สึกว่าเข่าล็อกติดๆขัดๆ จะปวดมากขณะลงน้ำหนัก

3. กล้ามเนื้อต้นขาบาดเจ็บ (Muscle strain)

กล้ามเนื้อต้นขานั้นจะมีหลายมัด แต่กล้ามเนื้อที่บาดเจ็บที่พบได้บ่อยที่สุดคือ กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (Hamstrings) และกล้ามเนื้อขาหนีบ (Groin) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่มีขนาดใหญ่ ทำหน้าที่เพิ่มแรงในขณะวิ่งและแรงในการเตะ ซึ่งในบางครั้งหากใช้แรงและเร็วมากเกินไป อาจจะเกิดแรงกระชากต่อกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อถูกยืดและฉีกขาดกะทันหันได้ โดยจะมีอาการปวดบริเวณต้นขาด้านหลังหรือบริเวณขาหนีบ ปวดมากขณะขยับขาหรือเดินลงน้ำหนัก

การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นเหล่านี้สามารถป้องกันได้หากมีการเตรียมตัวที่ดีพอ เช่น ยืดกล้ามเนื้อทั้งก่อนและหลังเล่นกีฬา มีการ Warm up – Cool down เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อช่วงล่าง สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันและเสื้อผ้าที่เหมาะสม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนที่เพียงพอ และหากยังมีอาการบาดเจ็บเกิดขึ้น เบื้องต้นแนะนำให้พักและประคบเย็นทันที แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุขณะเล่นแนะนำว่าควรตรวจเพิ่มเติมกับแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจประเมินและรับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมเพื่อป้องกันการบาดเจ็บเรื้อรัง และทำให้กลับไปเล่นกีฬาได้โดยเร็ว

กภ.ธนพร (ออย)
Reference
https://he01.tci-thaijo.org/index.php/KBJ/article/download/248045/167992/899052
https://www.orthocarolina.com/media/the-3-big-football-injuries-you-should-know-about
https://www.bupa.co.uk/newsroom/ourviews/common-football-injuries
https://www.physio-pedia.com/Meniscal_Lesions
https://www.physio-pedia.com/Hamstring_Strain
https://www.physio-pedia.com/Category:Knee_Injuries