แม้ว่ากีฬากอล์ฟจะเป็นกีฬาที่ใช้พละกำลังน้อย ไม่ต้องใช้ความเร็วในการเล่น และไม่มีการปะทะกัน แต่วงสวิงของกอล์ฟจะต้องใช้การเคลื่อนไหวหลายส่วน ทั้งลำตัว เอว ไหล่และแขน และยังมีแรงกระชากแรงบิดภายในเสี้ยววินาที ดังนั้นหากมีกล้ามเนื้อที่ไม่แข็งแรง ขาดการวอร์มและยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่เหมาะสม หรือเล่นผิดวิธี ก็จะทำให้เกิดการบาดเจ็บตามมาได้
การบาดเจ็บในนักกีฬากอล์ฟมืออาชีพมักเกิดจากการทำในท่าเดิมซ้ำๆ หรือการฝึกที่เยอะเกินไป แต่ในนักกีฬากอล์ฟมือสมัครเล่นมักเกิดจากสภาพร่างกายที่ไม่พร้อม ขาดความยืดหยุ่น ขาดการเตรียมพร้อมหรือวอร์มร่างกาย เทคนิคหรือวงสวิงที่ผิดวิธี ท่าทางในการตี รวมไปถึงพื้นผิวที่ตีด้วย ซึ่ง 3 ลำดับการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยในนักกีฬากอล์ฟมืออาชีพและมือสมัครเล่นมีดังนี้ สำหรับนักกีฬากอล์ฟมืออาชีพ คือ หลังส่วนล่าง ข้อมือ และหัวไหล่ ส่วนนักกีฬากอล์ฟมือสมัครเล่น คือ หลังส่วนล่าง ข้อศอก และข้อมือ
1. หลังล่าง (Low back pain) เป็นบริเวณที่เกิดการบาดเจ็บได้บ่อยที่สุด เพราะกล้ามเนื้อบริเวณนี้มีบทบาทสำคัญในการเหวี่ยงไม้กอล์ฟ ซึ่งการเหวี่ยงที่ เรียกว่า “Classic Swing” จะค่อนข้างเป็นวงแนวระนาบ (relatively flat swing) และจบวงสวิงในท่าหลังตรง (I position) ส่วนการเหวี่ยง ที่เรียกว่า “Modern Swing” มีการหมุนไหล่กว้าง จำกัดการหมุนของข้อสะโพกในจังหวะเงื้อไม้ (back swing) และจบวงสวิงในท่าแอ่นหลัง (reverse C) ทำให้มีแรงบิด (torque) ต่อหลังและไหล่มากขึ้น จึงทำให้การเหวี่ยงแบบ Modern Swing มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บต่อหลังส่วนล่างมากกว่า ซึ่งอาจทำให้เกิด กล้ามเนื้อหลังอักเสบ หมอนรองกระดูกปลิ้น กระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกสันหลังเคลื่อนได้
2.หัวไหล่ (Shoulder pain) เป็นบริเวณที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ เพราะข้อไหล่มีการทำงานที่ซับซ้อน และวงสวิงของกีฬากอล์ฟต้องใช้องศาการเคลื่อนไหวที่กว้าง ทำให้เกิดแรงกระทำต่อข้อไหล่ และข้อไหล่ถูกยืด ซึ่งทำให้เกิดกลุ่มอาการกดเบียดภายในข้อไหล่ หรือเอ็นข้อไหล่ฉีกได้
3. ข้อศอก (Elbow tendinosis) เนื่องจากมีแรงกระแทกขณะที่ไม้กอล์ฟกระทบกับลูกกอล์ฟ ทำให้เส้นเอ็นบริเวณข้อศอกเกิดแรงตึงจนเกิดการบาดเจ็บและอักเสบได้ มักเกิดกับนักกอล์ฟมืออาชีพ โรคที่พบบ่อย ได้แก่ golfer elbow และ tennis elbow
หากเกิดการบาดเจ็บจากการเล่นกอล์ฟ หลังบาดเจ็บทันทีแนะนำให้พักและประคบเย็น หากไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งการรักษามีตั้งแต่การรับประทานยา การกายภาพบำบัดด้วยเครื่องมือ เช่น Focus shockwave และ high power laser เพื่อลดปวดและเร่งกระบวนการซ่อมแซม จนไปถึงการฉีดยา เช่น การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น หรือ PRP ซึ่งเหมาะกับคนที่เป็นมานานเรื้อรัง จะช่วยลดการอักเสบและเร่งกระบวนการฟื้นฟูให้เร็วขึ้น โดยการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการที่เป็น ใครบาดเจ็บไม่ควรปล่อยไว้ ยิ่งปล่อยไว้นานจะยิ่งรักษายาก
กภ. พัชรพร (พิงค์กี้)
Reference
https://simonmoyes.com/magazine/sports-medicine/the-common-golf-injuries/
https://www.rehabmed.or.th/main/wp-content/uploads/2015/01/L-180.pdf.
https://www.thaiscience.info/journals/Article/SRMJ/10823954.pdf.
https://www.professionalevents.co.uk/_images/_products2downloads/109_317.pdf
ภาวะไหล่ห่อ (round shoulder) คอยื่น (forward head) หลังค่อม (hypokyphosis) หรือ “ Upper crossed syndrome ” จากงานวิจัยของ V Janda (2013) อธิบายไว้ว่า เป็นภาวะที่เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อที่ไม่สมดุลกัน โดยกล้ามเนื้อบางส่วนไม่แข็งแรงและยืดยาวออก ในขณะที่กล้ามเนื้ออีกฝั่งมีการตึงตัวและหดสั้น ซึ่งพบว่ากล้ามเนื้อมัดลึกในการก้มคอ (deep cervical flexor) และกล้ามเนื้อบริเวณสะบัก (middle & lower trapezius, rhomboid, serratus anterior) มีการยืดยาวออก ร่วมกับกล้ามเนื้อคอ - บ่า (suboccipital, upper trapezius, levator scapulae) และกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก (pectoralis major and minor) มีการตึงตัว จากความไม่สมดุลกันที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวในรูปแบบที่ไม่เหมาะสมในแต่ละบุคลล และอาจนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น
- อาการปวดบริเวณคอ บ่า และสะบัก โดยมักมีจุดกดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อที่มีการตึงตัวมาก อาจส่งผลให้มีอาการปวดร้าวไปที่ศีรษะ ขมับ เบ้าตา หรือร้าวลงแขนได้
- การกดทับบริเวณรากประสาทส่วนคอ โดยลักษณะคอที่ยื่นออกทางด้านหน้า ส่งผลให้เกิดการรบกวนบริเวณรากประสาทส่วนคอ อาจทำให้เกิดอาการปวดร้าว หรือชาร้าวลงแขนร่วมด้วยได้
- ส่งผลต่อการขยายตัวของทรวงอก ทำให้ทรวงอกไม่สามารถขยายตัวได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้การขยายตัวของปอดลดลง ความจุปอดลดลง ดังนั้นในบางคนอาจรู้สึกหายใจได้สั้น-ตื้น หรือหายใจไม่อิ่มได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อ และนำมาซึ่ง Upper crossed syndrome นั้นมักเกิดจากลักษณะท่าทางการทำงาน เช่น พนักงานออฟฟิศที่นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน พนักงานขับรถที่ต้องจับพวงมาลัยเป็นระยะเวลานาน หรือแม้กระทั่งนักเรียน นักศึกษาที่ต้องนั่งเรียนและอ่านหนังสือหลายชั่วโมงติดต่อกัน นอกจากนี้พฤติกรรมที่มักอยู่ในท่าทางก้มเป็นระยะเวลานานๆ เช่น การเล่นโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต การกอดอก การสะพายกระเป๋าเป้หนักๆ การนอนคว่ำอ่านหนังสือ หรืออิริยาบถใดๆ ที่กระทำซ้ำๆ และต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โดยไม่เปลี่ยนท่าก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาวะไหล่ห่อ คอยื่น และหลังค่อมได้
วิธีตรวจเช็คภาวะไหล่ห่อ คอยื่น หลังค่อม
วิธีตรวจเช็คภาวะไหล่ห่อ คอยื่น หลังค่อม สามารถตรวจได้ง่ายๆที่บ้าน
วิธีที่ 1 เพียงแค่ยืนตัวตรงด้านหน้ากำแพง ปล่อยไหล่สบายๆ ไม่พยายามบีบหัวไหล่เข้าหากัน หากด้านหลังของศรีษะ และด้านหลังของหัวไหล่ไม่สัมผัสกับผนัง นั่นเป็นสัญญาณบอกว่ากำลังมีภาวะไหล่ห่อ คอยื่น หลังค่อมได้
วิธีที่ 2 ถ่ายรูปตนเอง ขณะยืนตรงจากทางด้านข้าง จากนั้นลากเส้นสมมติตั้งตรงในแนวดิ่ง โดยเริ่มจากตาตุ่มทางด้านนอก ลากตั้งฉากตรงขึ้นไปจนถึงศรีษะ ซึ่งลักษณะท่าทางที่ดีเมื่อลากเส้นตรงจากตาตุ่มทางด้านนอก จะต้องผ่านกึ่งกลางของข้อเข่า ปุ่มกระดูกบริเวณสะโพก ปุ่มกระดูกบริเวณกึ่งกลางหัวไหล่ และรูหู เช่นกันหากบริเวณปุ่มกระดูกต่างๆ อยู่ค่อนไปทางด้านหน้าของเส้นสมมติ แสดงถึงภาวะไหล่ห่อ คอยื่น และหลังค่อม
วิธีการรักษา
1.วิธีการรักษาทางการแพทย์ มีหลากหลายวิธี เช่น การรักษาโดยการฝังเข็มคลายจุดเกร็งกล้ามเนื้อ (dry needling) การฉีดกลูโคสหรือน้ำตาล (prolotherapy) การฉีดเกล็ดเลือดสกัดเข้มข้น (PRP) เพื่อซ่อมแซมจุดอักเสบ เป็นต้น
2.วิธีการรักษาทางกายภาพบำบัด เพื่อลดอาการปวดและการอักเสบโดยการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด เช่น คลื่นกระแทก (focus shockwave) คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (PMS : Peripheral Magnetic Stimulation) เลเซอร์พลังงานสูง (high power laser) คลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasound) เป็นต้น ซึ่งทำร่วมกับโปรแกรมการออกกำลังการเฉพาะบุคคลเพื่อลดโอกาสการเป็นซ้ำ
ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์หรือการทำกายภาพบำบัด สิ่งที่สำคัญและไม่ควรละเลยในการรักษา ภาวะไหล่ห่อ คอยื่น หลังค่อม คือ การออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกลุ่มกล้ามเนื้อมัดที่อ่อนแรง ร่วมกับการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกลุ่มกล้ามเนื้อที่หดเกร็งและมีความตึงตัวสูง และเพื่อผลการรักษาที่ดีขึ้นควรทำร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นระยะเวลานานๆ จัดโต๊ะทำงานให้เหมาะสมกับการทำงานและสะดวกต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย
รีแฮปแคร์คลินิกมีท่าออกกำลังกายสำหรับ Upper crossed syndrome มาแนะนำกัน
1.Wall Stretch เพื่อยืดกล้ามเนื้อหน้าอกทางด้านหน้า (pectoralis)
ภาพแสดง Wall Stretch
2.Stretching upper trapezius เพื่อยืดกล้ามเนื้อคอบ่า (upper trapezius)
ภาพแสดง Stretching upper trapezius
3.Wall Slides เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสะบัก (middle & lower trapezius, rhomboid, serratus anterior)
ภาพแสดง Wall Slides
4.Scapula retraction เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสะบักด้านใน (rhomboid)
ภาพแสดง Scapula retraction
5.Chin tuck เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอมัดลึก และช่วยลดภาวะคอยื่น
ภาพแสดง Chin tuck
หากเริ่มมีอาการปวด หรืออยากตรวจประเมินโครงสร้างร่างกายว่ามีภาวะไหล่ห่อคอยื่นหรือไม่ สามารถปรึกษาคลินิกได้
กภ.ธนพร (โบนัส)
Reference
https://www.physio-pedia.com/Upper-Crossed_Syndrome
https://pt.mahidol.ac.th/knowledge/?p=1985
https://abbottcenter.com/bostonpaintherapy/2009/05/26/rotator-cuff-and-shoulder-pain-5-stretches/
https://www.menshealth.com/fitness/a28723564/pullup-training-workout/
https://learnmuscles.com/glossary/upper-trapezius-stretching-2/
https://markgibsonphysio.com/2017/12/31/a-scapula-retraction/
การใช้ประคบเย็น เพื่อลดอาการปวด
ควรใช้ในกรณีหลังมีการบาดเจ็บมาในช่วง 24 - 48 ชั่วโมงแรก หรือมีข้อบ่งชี้ว่าเส้นเลือดบริเวณนั้นมีการฉีกขาด หรือมีการอักเสบ ได้แก่ มีอาการปวด ร่วมกับการบวม แดง และร้อน ซึ่งความเย็นมีผลทำให้หลอดเลือดหดตัว เลือดออกน้อยลง การบาดเจ็บและการอักเสบจึงลดลงตามไปด้วย
อาการที่ควรประคบเย็น เช่น ปวดศีรษะ มีไข้สูง ปวดฟัน ปวดบวมข้อเท้า ข้อเคล็ด เลือดกำเดาไหล หรือ ปวดบวมบริเวณอื่นๆ ที่เกิดจากการได้รับบาดเจ็บหรือเริ่มมีอาการปวดในช่วงแรก
วิธีประคบที่เหมาะสม อาจใช้เจลสำหรับประคบเย็นแบบสำเร็จรูปหรือทำถุงน้ำแข็งขึ้นใช้เอง โดยใช้ถุงพลาสติกขนาดพอเหมาะ เติมน้ำเปล่าผสมน้ำแข็งในสัดส่วนที่เท่ากัน นำผ้ามาหุ้มอีกชั้น ตรวจสอบว่าไม่เย็นเกินไปโดยการนำมาประคบผิวหนัง ถ้าบริเวณที่มีอาการเป็นบริเวณมือ แขน ขา หรือเท้า อาจใช้การแช่ในภาชนะที่บรรจุน้ำเย็นแทน โดยประคบหรือแช่นานประมาณ 10
- 15 นาทีต่อครั้ง จำนวน 2 - 3 ครั้งต่อวัน
การใช้ประคบร้อน เพื่อลดอาการปวด
ประคบอุ่นนั้นสามารถกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตให้ดีขึ้น เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่น ลดอาการเมื่อยล้า และยังส่งผลในการช่วยลดปวดได้ นอกจากนี้ยังสามารถทำง่ายๆ ได้ด้วยตนเอง และหากทำควบคู่กับการยืดกล้ามเนื้อจะยิ่งมีประสิทธิภาพในการลดความปวดมากยิ่งขึ้น
อาการที่ควรประคบอุ่น เมื่อมีอาการปวดเมื่อย ปวดตึงของกล้ามเนื้อจากสาเหตุต่างๆ เช่น การนั่งทำงานเป็นระยะเวลานาน การนั่งขับรถต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน หรือการยืนติดต่อกันเป็นเวลานาน สามารถประคบอุ่นได้ทุกบริเวณ ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อ เช่น คอ-บ่า หลัง ขา เป็นต้น
วิธีประคบอุ่นที่เหมาะสม ประคบอุ่นในระดับความร้อนที่อุ่นสบาย ต้องไม่รู้สึกแสบผิวหรือไม่ร้อนจัดเกินไป เพื่อป้องกันการเกิดผิวหนังไหม้พอง แนะนำประคบครั้ง 15 - 20 นาที วันละ 1 - 2 รอบ
ข้อห้ามและข้อควรระวังในการประคบอุ่น
ไม่ควรประคบอุ่นในบริเวณที่มีอาการอักเสบ บวม แดง ร้อน มีแผลเปิด หรือผิวเป็นผื่น
อุปกรณ์ที่ใช้ในการประคบอุ่น
1. เจลประคบอุ่น หรือถุงน้ำร้อน โดยต้องห่อด้วยผ้าเพื่อให้ได้ความร้อนที่เหมาะสม ข้อดีคือ หาใช้ได้ง่าย ราคาไม่แพง แต่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้
2. แผ่นประคบอุ่นไฟฟ้า เป็นการประคบอุ่นรูปแบบใหม่ข้อดีคือ สามารถควบคุมระดับความร้อนที่พอเหมาะได้ โดยแผ่นประคบอุ่นไฟฟ้าจะมีความร้อนคงที่ มีความสะดวกสบายในการใช้งาน ปลอดภัยสูงเพราะสามารถตั้งเวลาใช้งานได้ อายุการใช้งานนานสามารถประคบได้ทั่วถึงทุกส่วน แต่มีราคาสูงกว่าแบบถุงน้ำร้อน
อาการปวดหลังเป็นอาการที่พบได้ในทุกเพศ ทุกวัย ลักษณะอาการปวดมีทั้งปวดอยู่กับที่ ปวดร้าวลงขา มีอาการชา หรือหากรุนแรงอาจมีอ่อนแรงร่วมด้วย บางคนหากเป็นน้อยสามารถหายเองได้แต่หลายคนต้องพบแพทย์และรับการรักษา ซึ่งขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการปวดหลัง
สาเหตุของอาการปวดหลัง
1. สาเหตุจากความเสื่อม เกิดจากหมอนรองกระดูกที่เสื่อมตามวัย ทำให้ปวดหลังและอาจมีการกดทับเส้นประสาท พบได้ในผู้ที่อายุ40 ปีขึ้นไป
2. สาเหตุจากใช้งานมากหรือหนักเกินไป พบบ่อยในช่วงวัยทำงานที่มักจะใช้งานในท่าทางเดิมซ้ำๆ เป็นระยะเวลานาน เช่น การนั่งนาน ก้มยกของหนัก เป็นต้น
3. สาเหตุจากอุบัติเหตุ หรือบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
ปวดหลังแบบไหน ควรรีบพบแพทย์
1. ปวดหลังเฉียบพลัน มีอาการปวดมาก จนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้
2. ปวดหลังเป็นระยะเวลานานกว่า 2 สัปดาห์
3. ปวดรุนแรง พักหรือรับประทานยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
4. ปวดร้าวลงสะโพก ลงขา หรือลงปลายเท้า ข้างใดข้างหนึ่งหรือสองข้าง
5. มีความรู้สึกผิดปกติ เช่น ขาชา เท้าชา หรือแสบร้อน
6. ไม่สามารถนั่ง หรือยืนเดินนานได้ เนื่องจากอาการปวดร้าว
7. ปวดหลังจากอุบัติเหตุ หรือบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
8. มีอาการอ่อนแรงของขาหรือเท้า
โดยหากรู้ตัวโรคเร็ว ในขณะที่อาการยังไม่รุนแรงมาก จะทำให้วางแผนการรักษาได้ง่าย และหากมีความกังวลเกี่ยวกับการผ่าตัด วิธีการรักษาที่แนะนำ คือการทำกายภาพบำบัด ซึ่งมุ่งเน้นแก้ไขความเจ็บปวด ฟื้นฟูสภาพร่างกายของผู้ป่วยให้กลับมาแข็งแรง สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
โดยรีแฮปแคร์คลินิกมีเครื่องมือช่วยลดอาการปวดหลังอย่างครบครันและตรงจุด ทั้งอาการปวดหลังที่มีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อ อาการปวดหลังที่มาจากการกดทับหรือรบกวนเส้นประสาท กระดูกหลังเสื่อม หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นหรือกดทับเส้นประสาท เครื่องมือที่ใช้ในการลดปวด เช่น
1. โฟกัสช็อกเวฟ (Focus shockwave) เป็นคลื่นกระแทกแบบลึก ที่จะช่วยคลายก้อนปมกล้ามเนื้อเอวมัดลึก (กล้ามเนื้อ QL หรือ Quadratus Lumborum) ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มีอาการร้าวลงสะโพกได้
2. เครื่องเลเซอร์พลังงานสูง (High Power Laser) เป็นพลังงานแสงที่จะช่วย ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และเส้นประสาทโดยเฉพาะ โดยเครื่องเลเซอร์มีความยาวคลื่นลึกถึง 1064 nm. สามารถให้พลังงานแสงเข้าไปบริเวณรากประสาท (Nerve root) ที่ถูกกดทับ เพื่อลดการอักเสบของรากประสาท และสามารถให้พลังงานแสงบริเวณขา เท้า ที่มีอาการชา และแสบ
ร้อนเพื่อลดอาการเจ็บปวดจากการอักเสบของปลายประสาทได้
3. คลื่นกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้า (PMS หรือ Peripheral Magnetic Stimulation) จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณที่ปวดเกิดการหดและคลายตัว เพิ่มการไหลเวียนของโลหิต คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสามารถกระตุ้นลงลึกได้ถึงรากประสาท (Nerve root) ช่วยเร่งการฟื้นตัวของเส้นประสาทที่บาดเจ็บจากการถูกกดทับได้ และสิ่งสำคัญคือช่วยฟื้นฟูความบกพร่องของระบบประสาท ด้วยการกระตุ้นให้เกิด
การเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของระบบประสาทที่ผิดปกติเช่น อาการแสบร้อน อาการชามือ เท้า ขา ให้กลับมาเป็นปกติ
4. วารีบำบัด (Hydrotherapy) เป็นการรักษาโดยใช้คุณสมบัติของน้ำ เพื่อฟื้นฟูร่างกาย ลดอาการปวดและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต่างๆ เช่น กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว กล้ามเนื้อหลัง กล้ามเนื้อก้น และกล้ามเนื้อขา ได้อย่างปลอดภัยและบาดเจ็บน้อยกว่าบนบกหลายเท่าโดยนักวิทยาศาสตร์การกีฬาที่เชี่ยวชาญในการรักษาอาการบาดเจ็บ จะทำงานร่วมกับแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและทีมนักกายภาพบำบัด เพื่อให้กล้ามเนื้อกลับมาแข็งแรง และลดโอกาสเกิดการบาดเจ็บซ้ำ โดยการทำวารีบำบัดสามารถทำได้ทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ ที่มีอาการปวดหลัง ผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรัง ผู้ที่มีปัญหาการทรงตัวไม่ดี ผู้ที่ต้องการฟื้นฟูหลังผ่าตัดรวมถึงผู้ที่มีการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
สิ่งที่สำคัญอีกหนึ่งอย่าง คือ การปรับพฤติกรรม ระมัดระวังท่าทางที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวด ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ พร้อมทั้งประคบอุ่นโดยใช้แผ่นประคบอุ่นไฟฟ้า ในบริเวณที่มีอาการปวด จะทำให้อาการปวดดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และลดโอกาสการปวดซ้ำได้เป็นอย่างดี
หมอนรองกระดูก ทำหน้าที่ เป็นตัวรองรับและกระจายแรง ของกระดูกสันหลัง
หมอนรองกระดูกปลิ้น เกิดจากการฉีกขาดของเยื่อหุ้มหมอนรองกระดูกชั้นนอก (Annulus fibrosus) ทําให้ส่วนที่อยู่ชั้นในที่มีลักษณะคล้ายวุ้น (Nucleus pulposus) ที่อยู่ตรงกลางเคลื่อนออกมากดเบียดเส้นประสาท (Nerve root) ส่งผลให้เกิดอาการปวด ชาร้าวลงขาได้
- มักจะพบในอายุ 21-50 ปี
- พบในผู้ชาย มากกว่า ผู้หญิง
- 90% จะพบมากในบริเวณหลังส่วนล่าง
- สาเหตุมาจากการก้มหลังยกของหนัก, การขับรถนาน, ก้มๆเงยๆหลังเป็นประจำ, บิดตัว และอุบัติเหตุ
- ปวดหลังร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง
- ถ้าเป็นมากอาจมีอาการชา หรือมีอาการอ่อนแรงของขาหรือเท้า
- ในบางรายที่เป็นมาก จะมีอาการปวดหลังร้าวลงขาทั้ง 2 ข้าง ขาชาและอ่อนแรงทั้ง 2 ข้าง ปัสสาวะไม่ออกและท้องผูกจําเป็นต้องได้รับการผ่าตัดรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อป้องกันความพิการที่จะเกิด อย่างถาวร
- ไอ จาม เบ่งแล้วจะมีอาการปวด
90 % ของผู้ป่วยจะดีขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด
- รับประทานยาแก้ปวด / คลายกล้ามเนื้อ
- ฉีดยา
- การทำกายภาพบำบัด
- การใช้เครื่องช่วยดึงหลัง การดึงกระดูกสันหลัง จะช่วยให้หมอนรองกระดูกกลับเข้าที่ได้ เพราะเป็นการดึงให้กระดูกสันหลังแยกห่างออกจากกัน ทำให้ลดแรงกดเบียดต่อตัวหมอนรองกระดูกได้
- การลดอาการปวด โดยการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด
- การฝึกเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว ร่วมกับการฝึกหายใจ โดยนักกายภาพบำบัดจะเป็นผู้รักษาและให้คำแนะนำ
1. ประคบอุ่นบริเวณที่มีอาการปวด ประมาณ 15-20 นาที เช้า-เย็น
2. เริ่มต้น : นอนคว่ำ แล้วค่อยๆพยุงตัวขึ้น ตั้งศอก 90 องศา ขณะที่สะโพกยังสัมผัสกับพื้น ทำค้างไว้ 10-15 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง แล้วค่อยๆเพิ่มเวลาขึ้น
3. เริ่มต้น : นอนคว่ำ แล้วค่อยๆพยุงตัวขึ้น เหยียดศอกตรง ขณะที่สะโพกยังสัมผัสกับพื้น ทำค้างไว้ 10-15 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง แล้วค่อยๆเพิ่มเวลาขึ้น
4. เริ่มต้น : ทำท่าตั้งคลาน ค่อยๆโก่งหลังขึ้น ก้มศีรษะลง พร้อมหายใจเข้า หลังจากนั้นค่อยๆแอ่นหลังโค้ง กดหน้าท้องลงให้ใกล้พื้นมากที่สุด เงยศีรษะขึ้น พร้อมหายใจออก ทำ 10 ครั้ง/รอบ ทำ 2-3 รอบ
5. เริ่มต้น : ทำท่าตั้งคลาน ค่อยๆยกแขนซ้ายไปด้านหน้าและเหยียดขาขวาไปด้านหลัง ทำค้างไว้ 10-15วินาที แล้วค่อยๆกลับมาท่าตั้งคลาน ทำซ้ำ 10 ครั้ง แล้วสลับข้าง
ถึงแม้อาการหมอนรองกระดูกจะดีขึ้นหรือหายแล้ว ก็สามารถกลับมาปลิ้นซ้ำได้ ดังนั้นการดูแลตัวเองเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก ในการป้องกันไม่ให้อาการเหล่านี้กลับมาเป็นอีกในอนาคต โดยการออกกำลังกายกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว การระมัดระวังในการนั่งขับรถนานๆ หรือการก้ม บิดลำตัว ยกของหนักๆ เป็นประจำ
หากมีข้อสงสัยสามารถปรึกษากับทางรีแฮปแคร์คลินิกได้โดยตรง โดยทางคลินิกมีแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และนักกายภาพบำบัด คอยแนะนำให้คำปรึกษาได้ตลอด
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ที่อยู่ : 423 ถนนเพชรเกษม แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กทม. (อยู่ในศูนย์กีฬากันอริ ก่อนถึงซีคอนบางแค) ? 061-801-2482 Line ID : @rehabcare