ภาวะไหล่ห่อ (round shoulder) คอยื่น (forward head) หลังค่อม (hypokyphosis) หรือ “ Upper crossed syndrome ” จากงานวิจัยของ V Janda (2013) อธิบายไว้ว่า เป็นภาวะที่เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อที่ไม่สมดุลกัน โดยกล้ามเนื้อบางส่วนไม่แข็งแรงและยืดยาวออก ในขณะที่กล้ามเนื้ออีกฝั่งมีการตึงตัวและหดสั้น ซึ่งพบว่ากล้ามเนื้อมัดลึกในการก้มคอ (deep cervical flexor) และกล้ามเนื้อบริเวณสะบัก (middle & lower trapezius, rhomboid, serratus anterior) มีการยืดยาวออก ร่วมกับกล้ามเนื้อคอ - บ่า (suboccipital, upper trapezius, levator scapulae) และกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก (pectoralis major and minor) มีการตึงตัว จากความไม่สมดุลกันที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวในรูปแบบที่ไม่เหมาะสมในแต่ละบุคลล และอาจนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น
- อาการปวดบริเวณคอ บ่า และสะบัก โดยมักมีจุดกดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อที่มีการตึงตัวมาก อาจส่งผลให้มีอาการปวดร้าวไปที่ศีรษะ ขมับ เบ้าตา หรือร้าวลงแขนได้
- การกดทับบริเวณรากประสาทส่วนคอ โดยลักษณะคอที่ยื่นออกทางด้านหน้า ส่งผลให้เกิดการรบกวนบริเวณรากประสาทส่วนคอ อาจทำให้เกิดอาการปวดร้าว หรือชาร้าวลงแขนร่วมด้วยได้
- ส่งผลต่อการขยายตัวของทรวงอก ทำให้ทรวงอกไม่สามารถขยายตัวได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้การขยายตัวของปอดลดลง ความจุปอดลดลง ดังนั้นในบางคนอาจรู้สึกหายใจได้สั้น-ตื้น หรือหายใจไม่อิ่มได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อ และนำมาซึ่ง Upper crossed syndrome นั้นมักเกิดจากลักษณะท่าทางการทำงาน เช่น พนักงานออฟฟิศที่นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน พนักงานขับรถที่ต้องจับพวงมาลัยเป็นระยะเวลานาน หรือแม้กระทั่งนักเรียน นักศึกษาที่ต้องนั่งเรียนและอ่านหนังสือหลายชั่วโมงติดต่อกัน นอกจากนี้พฤติกรรมที่มักอยู่ในท่าทางก้มเป็นระยะเวลานานๆ เช่น การเล่นโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต การกอดอก การสะพายกระเป๋าเป้หนักๆ การนอนคว่ำอ่านหนังสือ หรืออิริยาบถใดๆ ที่กระทำซ้ำๆ และต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โดยไม่เปลี่ยนท่าก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาวะไหล่ห่อ คอยื่น และหลังค่อมได้
วิธีตรวจเช็คภาวะไหล่ห่อ คอยื่น หลังค่อม
วิธีตรวจเช็คภาวะไหล่ห่อ คอยื่น หลังค่อม สามารถตรวจได้ง่ายๆที่บ้าน
วิธีที่ 1 เพียงแค่ยืนตัวตรงด้านหน้ากำแพง ปล่อยไหล่สบายๆ ไม่พยายามบีบหัวไหล่เข้าหากัน หากด้านหลังของศรีษะ และด้านหลังของหัวไหล่ไม่สัมผัสกับผนัง นั่นเป็นสัญญาณบอกว่ากำลังมีภาวะไหล่ห่อ คอยื่น หลังค่อมได้
วิธีที่ 2 ถ่ายรูปตนเอง ขณะยืนตรงจากทางด้านข้าง จากนั้นลากเส้นสมมติตั้งตรงในแนวดิ่ง โดยเริ่มจากตาตุ่มทางด้านนอก ลากตั้งฉากตรงขึ้นไปจนถึงศรีษะ ซึ่งลักษณะท่าทางที่ดีเมื่อลากเส้นตรงจากตาตุ่มทางด้านนอก จะต้องผ่านกึ่งกลางของข้อเข่า ปุ่มกระดูกบริเวณสะโพก ปุ่มกระดูกบริเวณกึ่งกลางหัวไหล่ และรูหู เช่นกันหากบริเวณปุ่มกระดูกต่างๆ อยู่ค่อนไปทางด้านหน้าของเส้นสมมติ แสดงถึงภาวะไหล่ห่อ คอยื่น และหลังค่อม
วิธีการรักษา
1.วิธีการรักษาทางการแพทย์ มีหลากหลายวิธี เช่น การรักษาโดยการฝังเข็มคลายจุดเกร็งกล้ามเนื้อ (dry needling) การฉีดกลูโคสหรือน้ำตาล (prolotherapy) การฉีดเกล็ดเลือดสกัดเข้มข้น (PRP) เพื่อซ่อมแซมจุดอักเสบ เป็นต้น
2.วิธีการรักษาทางกายภาพบำบัด เพื่อลดอาการปวดและการอักเสบโดยการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด เช่น คลื่นกระแทก (focus shockwave) คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (PMS : Peripheral Magnetic Stimulation) เลเซอร์พลังงานสูง (high power laser) คลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasound) เป็นต้น ซึ่งทำร่วมกับโปรแกรมการออกกำลังการเฉพาะบุคคลเพื่อลดโอกาสการเป็นซ้ำ
ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์หรือการทำกายภาพบำบัด สิ่งที่สำคัญและไม่ควรละเลยในการรักษา ภาวะไหล่ห่อ คอยื่น หลังค่อม คือ การออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกลุ่มกล้ามเนื้อมัดที่อ่อนแรง ร่วมกับการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกลุ่มกล้ามเนื้อที่หดเกร็งและมีความตึงตัวสูง และเพื่อผลการรักษาที่ดีขึ้นควรทำร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นระยะเวลานานๆ จัดโต๊ะทำงานให้เหมาะสมกับการทำงานและสะดวกต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย
รีแฮปแคร์คลินิกมีท่าออกกำลังกายสำหรับ Upper crossed syndrome มาแนะนำกัน
1.Wall Stretch เพื่อยืดกล้ามเนื้อหน้าอกทางด้านหน้า (pectoralis)
ภาพแสดง Wall Stretch
2.Stretching upper trapezius เพื่อยืดกล้ามเนื้อคอบ่า (upper trapezius)
ภาพแสดง Stretching upper trapezius
3.Wall Slides เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสะบัก (middle & lower trapezius, rhomboid, serratus anterior)
ภาพแสดง Wall Slides
4.Scapula retraction เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสะบักด้านใน (rhomboid)
ภาพแสดง Scapula retraction
5.Chin tuck เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอมัดลึก และช่วยลดภาวะคอยื่น
ภาพแสดง Chin tuck
หากเริ่มมีอาการปวด หรืออยากตรวจประเมินโครงสร้างร่างกายว่ามีภาวะไหล่ห่อคอยื่นหรือไม่ สามารถปรึกษาคลินิกได้
กภ.ธนพร (โบนัส)
Reference
https://www.physio-pedia.com/Upper-Crossed_Syndrome
https://pt.mahidol.ac.th/knowledge/?p=1985
https://abbottcenter.com/bostonpaintherapy/2009/05/26/rotator-cuff-and-shoulder-pain-5-stretches/
https://www.menshealth.com/fitness/a28723564/pullup-training-workout/
https://learnmuscles.com/glossary/upper-trapezius-stretching-2/
https://markgibsonphysio.com/2017/12/31/a-scapula-retraction/