Skip to main content

เจ็บเข่า

3 อันดับการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยในนักกีฬาฟุตบอล
Posted: September 23, 2024 By: adminrehabcare2Categories: Comment:  0

สำหรับนักกีฬาหรือคนที่ชอบการเล่นกีฬาคงจะหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นไม่ได้ ฟุตบอลเป็นหนึ่งในกีฬาที่เป็นสาเหตุให้เกิดการบาดเจ็บได้โดยง่าย เนื่องจากเป็นกีฬาที่ต้องใช้ความเร็ว เปลี่ยนทิศทางกะทันหัน และเกิดการปะทะ ซึ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บต่างๆได้ ดังนี้

1. เส้นเอ็นข้อเข่าบาดเจ็บ (Knee ligaments sprain) โดยเส้นเอ็นข้อเข่า(knee ligaments) จะมี 4 เส้น ประกอบไปด้วย 
- เอ็นไขว้หน้า (ACL ; Anterior Cruciate Ligament)
- เอ็นไขว้หลัง (PCL ; Posterior Cruciate Ligament)
- เอ็นข้างด้านใน (MCL ; Medial Collateral Ligament)
- เอ็นข้างด้านนอก (LCL ; Lataral Collateral Ligament)

ซึ่งเส้นเอ็นข้อเข่าจะเชื่อมอยู่ระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง มีหน้าที่ช่วยรักษาและพยุงความมั่นคงของข้อเข่าไว้ในขณะทำกิจกรรม ซึ่งในกีฬาฟุตบอลที่มีการวิ่ง กระโดด กระแทก เปลี่ยนทิศทางกะทันหัน หรือเกิดการปะทะกัน ซึ่งทำให้ข้อเข่าโดนกระแทกหรือบิดหมุน เกิดแรงกระทำภายในข้อเข่า ส่งผลให้เส้นเอ็นข้อเข่าอาจจะเกิดการอักเสบหรือฉีกขาดได้ โดยจะมีอาการปวดบริเวณเข่า (ขึ้นอยู่กับเส้นเอ้นที่บาดเจ็บ) เข่าบวม รู้สึกเข่าไม่มั่นคง

2. หมอนรองเข่าบาดเจ็บหรือฉีกขาด (Meniscus tear) โดยหมอนรองเข่ามี 2 ส่วน ประกอบไปด้วย
- หมอนรองเข่าด้านใน (Medial meniscus)
- หมอนรองเข่าด้านนอก (Lateral meniscus)

ซึ่งหมอนรองเข่าจะอยู่ภายในข้อเข่า อยู่ระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้ง มีหน้าที่ช่วยพยุงและรับแรงกระแทกที่เกิดภายในข้อเข่า ป้องกันการเสียดสีกันของกระดูก โดยในกีฬาฟุตบอลที่มีการวิ่ง กระโดด การเปลี่ยนทิศทางกะทันหัน หรืออุบัติเหตุขณะเล่น ซึ่งทำให้ข้อเข่าเกิดการบิดหมุน เกิดแรงกระทำภายในข้อเข่า ส่งผลให้หมอนรองเข่าบาดเจ็บ อักเสบ หรือฉีกขาดได้ โดยจะมีอาการปวดภายในข้อเข่า เข่าบวม ตึง หรืออาจรู้สึกว่าเข่าล็อกติดๆขัดๆ จะปวดมากขณะลงน้ำหนัก

3. กล้ามเนื้อต้นขาบาดเจ็บ (Muscle strain)

กล้ามเนื้อต้นขานั้นจะมีหลายมัด แต่กล้ามเนื้อที่บาดเจ็บที่พบได้บ่อยที่สุดคือ กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (Hamstrings) และกล้ามเนื้อขาหนีบ (Groin) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่มีขนาดใหญ่ ทำหน้าที่เพิ่มแรงในขณะวิ่งและแรงในการเตะ ซึ่งในบางครั้งหากใช้แรงและเร็วมากเกินไป อาจจะเกิดแรงกระชากต่อกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อถูกยืดและฉีกขาดกะทันหันได้ โดยจะมีอาการปวดบริเวณต้นขาด้านหลังหรือบริเวณขาหนีบ ปวดมากขณะขยับขาหรือเดินลงน้ำหนัก

การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นเหล่านี้สามารถป้องกันได้หากมีการเตรียมตัวที่ดีพอ เช่น ยืดกล้ามเนื้อทั้งก่อนและหลังเล่นกีฬา มีการ Warm up – Cool down เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อช่วงล่าง สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันและเสื้อผ้าที่เหมาะสม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนที่เพียงพอ และหากยังมีอาการบาดเจ็บเกิดขึ้น เบื้องต้นแนะนำให้พักและประคบเย็นทันที แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุขณะเล่นแนะนำว่าควรตรวจเพิ่มเติมกับแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจประเมินและรับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมเพื่อป้องกันการบาดเจ็บเรื้อรัง และทำให้กลับไปเล่นกีฬาได้โดยเร็ว

กภ.ธนพร (ออย)
Reference
https://he01.tci-thaijo.org/index.php/KBJ/article/download/248045/167992/899052
https://www.orthocarolina.com/media/the-3-big-football-injuries-you-should-know-about
https://www.bupa.co.uk/newsroom/ourviews/common-football-injuries
https://www.physio-pedia.com/Meniscal_Lesions
https://www.physio-pedia.com/Hamstring_Strain
https://www.physio-pedia.com/Category:Knee_Injuries

นั่งพับเข่านานๆ นั่งกับพื้นทำให้ปวดเข่าจริงหรือไม่!?
Posted: September 17, 2024 By: adminrehabcare2Categories: Comment:  0

โดยทั่วไปการนั่งคุกเข่าเป็นครั้งคราว ไม่นานนั้นไม่ได้ส่งผลที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมากนัก แต่รู้หรือไม่ว่าท่านั่งบางท่า หากนั่งบ่อย ๆ อาจเร่งให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น เช่น 

* นั่งขัดสมาธิ 
* นั่งพับเพียบ 
* นั่งคุกเข่า 
* นั่งยอง ๆ 
* การนั่งงอเข่าพับไปใต้เก้าอี้

ภาพแสดง ตัวอย่างท่านั่งที่ไม่เหมาะสม

ท่านั่งเหล่านี้ทำให้เกิดแรงกดต่อผิวข้อเข่ามากถึง 5 - 10 เท่าของน้ำหนักตัวส่งผลให้กระดูกอ่อนที่ผิวข้อเข่าสึกกร่อนเร็ว ส่งเสริมทำให้เกิดความเสี่ยงของภาวะข้อเข่าเสื่อมและมีอาการปวดเข่าตามมาได้

อาการปวดเข่าจากการนั่งพับเข่า เกิดจากที่ข้อเข่ามีแรงกดต่อผิวข้อ ทำให้ข้อเข่าเกิดการเสียดสีซ้ำๆ จนสึกกร่อน และเกิดอักเสบบริเวณรอบข้อเข่าตามมา ไม่เพียงแต่การนั่งพับเข่าเท่านั้นที่เสี่ยงต่ออาการปวดเข่า แต่ยังรวมถึงการนั่งอยู่ท่าเดิมเป็นเวลานาน เนื่องจากการอยู่ท่าเดิมนาน จะทำให้การไหลเวียนเลือดไปบริวเณต่างๆน้อยลง ทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบข้อเข่าเกิดอาการเกร็งตึงได้ ร่วมกับกล้ามเนื้อโดยรอบที่ไม่แข็งแรง เช่น กล้ามเนื้อสะโพก กล้ามเนื้อต้นขา หรือกล้ามเนื้อน่อง ก็จะยิ่งส่งผลให้เกิดแรงกดภายในข้อเพิ่มขึ้นและเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อรอบเข่าได้อีกด้วย

ดังนั้นการหลีกเลี่ยงการนั่งพับเข่า หรือนั่งท่าเดิมนานๆจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอาการปวดเข่าและภาวะข้อเข่าเสื่อมได้

การป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดเข่าจากการนั่ง

ภาพแสดง ตัวอย่างท่านั่งที่เหมาะสม

1. นั่งให้ถูกต้อง
ในนั่งบนเก้าอี้ที่มั่นคง สะโพกและเข่างอประมาณ 90 องศา เท้าทั้งสองข้างวางราบกับพื้นหรือมีที่รองเท้าไม่ให้เท้าของเราลอยขึ้นจากพื้น

2. ลุกขึ้นจากเก้าอี้ทุกๆ 1 ชั่วโมง
เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อหลัง สะโพกและเข่าของเราทำงานในท่าเดิมๆ นานเกินไป ช่วยลดอาการตึงของกล้ามเนื้อ และเพิ่มการไหลเวียนของเลือดได้ด้วย

3. หมั่นยืดกล้ามเนื้อและออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ควรยืดกล้ามเนื้อสะโพกและต้นขาเป็นประจำเพื่อลดความตึงตัว ร่วมกับออกกำลังกายกล้ามเนื้อสะโพกและต้นขาให้มีความแข็งแรงเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บได้

4. ประคบอุ่นบริเวณข้อเข้าและกล้ามเนื้อรอบๆข้อเข่า
เพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณข้อเข้า เราสามารถใช้แผ่นประคบอุ่นประมาณ 20-30 นาทีเป็นประจำทุกวัน

หากอาการปวดยังคงอยู่หรือมีอาการเพิ่มขึ้นแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพิ่มทำการตรวจประเมินร่างกายและเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมกัน

โดย กภ. ภัทริดาภรณ์ (กิ๊ฟท์)
Reference
* https://www.healthline.com/health/sitting-on-knees
* Demura S, et al. (2005). Effect of Japanese sitting style (seiza) on the center of foot pressure after standing.https://www.jstage.jst.go.jp/article/jpa/24/2/24_2_167/_pdf/-char/ja

โรคข้อเข่าเสื่อมคืออะไร ถ้าเป็นแล้วต้องผ่าตัดหรือไม่ และถ้าไม่อยากผ่าตัดต้องทำอย่างไร
Posted: July 08, 2021 By: adminrehabcare2Categories: Comment:  0


โรคข้อเข่าเสื่อมมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป โดยอาการที่พบบ่อยคือ มีเสียงในเข่า ฝืด ตึง ปวดเวลาขึ้นลงบันได นั่งพับเพียบ หรือคุกเข่า โดยผู้ที่มีโอกาสเป็นโรคข้อเข่าเสี่อมคือผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก อายุมาก คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ผู้ที่ใช้งานข้อเข่ามาก เช่นนักกีฬาที่ต้องกระโดด กระแทกหรือบิดเข่า หรือนักวิ่งมาราทอนที่ต้องใช้เข่าติดต่อกันเป็นเวลานาน


โรคข้อเข่าเสื่อมมีหลายระยะ หากตรวจพบในระยะแรกสามารถรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถตรวจวินิจฉัยได้ด้วยเครื่องมืออัลตราซาวน์ หากยังอยู่ในระยะแรกสามารถฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าเทียม (Hyaluronic Acid) เข้าไปจะสามารถลดอาการปวด การฝืดตึง เพิ่มการเคลื่อนไหวและชะลอการผ่าตัดข้อเทียมได้ โดยเฉลี่ยแล้วต้องฉีดยาประมาณ 3 เข็ม โดยเว้นระยะแต่ละเข็ม 1 สัปดาห์ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ไม่ต่างจากการฉีดยาทั่วไป อาจมีผลแค่บวมแดง ซึ่งสามารถหายเองได้จากการประคบเย็น ยาไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย และฤทธิ์ของยาจะอยู่ได้ประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปีขึ้นอยู่กับการดูแลเข่าและความรุนแรงของโรคในแต่ละคน และสามารถฉีดซ้ำได้ตามข้อบ่งชี้ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ


รายงานจากมหาวิทยาลัยมหิดลระบุว่า ณ ปัจจุบันประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่า 6 ล้านคนและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น โดยผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปีพบได้มากถึง 50% ดังนั้น หากคุณหรือคนที่คุณรักมีอาการปวดเข่า เจ็บเข่า ลุกแล้วปวด นั่งแล้วปวด ยืนก็ปวด เดินก็ปวด และไม่ต้องการผ่าตัด เราขอแนะนำให้คุณปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสามารถใช้เครื่องมือเทคโนโลยีล้ำสมัยในการตรวจเช็คโรคได้อย่างละเอียดและแม่นยำ หากพบว่าอาการอยู่ในระยะเริ่มต้นสามารถรักษาได้ด้วยการไม่ต้องผ่าตัด ดังนั้น ช่วงระยะเวลาที่คุณตัดสินใจไปพบแพทย์จึงเป็นตัวแปรสำคัญในการบอกว่าคุณต้องผ่าตัดหรือไม่ รู้อย่างนี้แล้ว หากพบว่าคนที่คุณรักมีอาการดังกล่าว อย่ารอจนเป็นเยอะ และรีบแนะนำให้ไปพบแพทย์นะคะ


ที่ REHAB CARE CLINIC เรามีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูและทีมนักกายภาพบำบัดเตรียมพร้อมสำหรับการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมโดยเฉพาะ การวางแผนและประสานงานเป็นทีมสามารถเร่งการฟื้นฟูของคุณให้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ลดการปวดอย่างทันทีและมีประสิทธิภาพ โดยมีโปรโมชั่นคอร์สการฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าเทียมอยู่ที่ 9,900 บาทต่อการฉีด 3 เข็ม หากคุณมีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคข้อเข่าเสื่อม ติดต่อสอบถามก่อนได้ที่ REHAB CARE CLINIC 061-801-2482