โดยทั่วไปการนั่งคุกเข่าเป็นครั้งคราว ไม่นานนั้นไม่ได้ส่งผลที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมากนัก แต่รู้หรือไม่ว่าท่านั่งบางท่า หากนั่งบ่อย ๆ อาจเร่งให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น เช่น
* นั่งขัดสมาธิ
* นั่งพับเพียบ
* นั่งคุกเข่า
* นั่งยอง ๆ
* การนั่งงอเข่าพับไปใต้เก้าอี้
ภาพแสดง ตัวอย่างท่านั่งที่ไม่เหมาะสม
ท่านั่งเหล่านี้ทำให้เกิดแรงกดต่อผิวข้อเข่ามากถึง 5 - 10 เท่าของน้ำหนักตัวส่งผลให้กระดูกอ่อนที่ผิวข้อเข่าสึกกร่อนเร็ว ส่งเสริมทำให้เกิดความเสี่ยงของภาวะข้อเข่าเสื่อมและมีอาการปวดเข่าตามมาได้
อาการปวดเข่าจากการนั่งพับเข่า เกิดจากที่ข้อเข่ามีแรงกดต่อผิวข้อ ทำให้ข้อเข่าเกิดการเสียดสีซ้ำๆ จนสึกกร่อน และเกิดอักเสบบริเวณรอบข้อเข่าตามมา ไม่เพียงแต่การนั่งพับเข่าเท่านั้นที่เสี่ยงต่ออาการปวดเข่า แต่ยังรวมถึงการนั่งอยู่ท่าเดิมเป็นเวลานาน เนื่องจากการอยู่ท่าเดิมนาน จะทำให้การไหลเวียนเลือดไปบริวเณต่างๆน้อยลง ทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบข้อเข่าเกิดอาการเกร็งตึงได้ ร่วมกับกล้ามเนื้อโดยรอบที่ไม่แข็งแรง เช่น กล้ามเนื้อสะโพก กล้ามเนื้อต้นขา หรือกล้ามเนื้อน่อง ก็จะยิ่งส่งผลให้เกิดแรงกดภายในข้อเพิ่มขึ้นและเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อรอบเข่าได้อีกด้วย
ดังนั้นการหลีกเลี่ยงการนั่งพับเข่า หรือนั่งท่าเดิมนานๆจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอาการปวดเข่าและภาวะข้อเข่าเสื่อมได้
การป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดเข่าจากการนั่ง
ภาพแสดง ตัวอย่างท่านั่งที่เหมาะสม
1. นั่งให้ถูกต้อง
ในนั่งบนเก้าอี้ที่มั่นคง สะโพกและเข่างอประมาณ 90 องศา เท้าทั้งสองข้างวางราบกับพื้นหรือมีที่รองเท้าไม่ให้เท้าของเราลอยขึ้นจากพื้น
2. ลุกขึ้นจากเก้าอี้ทุกๆ 1 ชั่วโมง
เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อหลัง สะโพกและเข่าของเราทำงานในท่าเดิมๆ นานเกินไป ช่วยลดอาการตึงของกล้ามเนื้อ และเพิ่มการไหลเวียนของเลือดได้ด้วย
3. หมั่นยืดกล้ามเนื้อและออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ควรยืดกล้ามเนื้อสะโพกและต้นขาเป็นประจำเพื่อลดความตึงตัว ร่วมกับออกกำลังกายกล้ามเนื้อสะโพกและต้นขาให้มีความแข็งแรงเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บได้
4. ประคบอุ่นบริเวณข้อเข้าและกล้ามเนื้อรอบๆข้อเข่า
เพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณข้อเข้า เราสามารถใช้แผ่นประคบอุ่นประมาณ 20-30 นาทีเป็นประจำทุกวัน
หากอาการปวดยังคงอยู่หรือมีอาการเพิ่มขึ้นแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพิ่มทำการตรวจประเมินร่างกายและเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมกัน
โดย กภ. ภัทริดาภรณ์ (กิ๊ฟท์)
Reference
* https://www.healthline.com/health/sitting-on-knees
* Demura S, et al. (2005). Effect of Japanese sitting style (seiza) on the center of foot pressure after standing.https://www.jstage.jst.go.jp/article/jpa/24/2/24_2_167/_pdf/-char/ja