Skip to main content

เจ็บเข่าด้านข้าง

5 สัญญาณอันตราย อาการไหนเสี่ยงข้อเข่าเสื่อม
Posted: December 20, 2023 By: adminrehabcare2 Categories:  Comment:  0

ข้อเข่าเสื่อม คือ ภาวะข้อเข่าที่มีกระดูกอ่อนผิวข้อ (articular cartilage) สึกกร่อน รวมถึงน้ำไขข้อเข่า (synovial fluid) ที่ช่วยหล่อลื่นข้อเข่าลดลง ทำให้เกิดการเสียดสีระหว่างผิวข้อจนเกิดกระดูกงอก (osteophyte) เกิดอักเสบและอาการปวดตามมา หากมีอาการเสื่อมมากอาจทำให้เกิดการจำกัดการเคลื่อนไหวและการผิดรูปของข้อเข่าได้โดยสัญญาณที่บ่งชี้ถึงโรคข้อเข่าเสื่อม ได้แก่

1. ได้ยินเสียงกร๊อบแกร๊บในเข่า
เกิดเสียงในข้อเข่าเมื่อมีการขยับ เคลื่อนไหวข้อเข่า เกิดจากผิวกระดูกอ่อนบางหรือสึกกร่อน ทำให้ผิวกระดูกเสียดสีกันจนเกิดเสียงดังกร๊อบแกร๊บขึ้น

2. ข้อเข่าฝืดตึงแข็งกว่าปกติ
ข้อเข่าฝืดแข็ง โดยจะเกิดในตอนเช้าหลังตื่นนอน หรือนั่งในท่าเดิมนานๆ เมื่อเปลี่ยนอิริยาบถ จะรู้สึกข้อเข่า ฝืด ขัด เกิดจากน้ำหล่อเลี้ยงในข้อเข่าลดน้อยลง ทำให้การเคลื่อนไหวของเข่าไม่ราบรื่น

3. ปวดเสียวภายในข้อเข่า
เกิดจากน้ำหล่อเลี้ยงในข้อเข่าลดน้อยลง เมื่อมีการขยับข้อเข่าผิวกระดูกจะเสียดสีกัน และกระดูกงอกจะทิ่มแทงเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อเข่า จึงทำให้เกิดอาการปวดเสียวในเข่า โดยมักปวดมากเวลาเดิน หรือเวลาที่มีการลงน้ำหนัก

4. รู้สึกเมื่อยล้าเข่าง่าย เดินได้ไม่นาน
เกิดจากกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าไม่แข็งแรง บางครั้งอาจพบว่าเข่าข้างที่เมื่อยล้าง่ายมีขนาดกล้ามเนื้อขาเล็กลง เมื่อเปรียบเทียบกับขาอีกข้าง

5. เข่าผิดรูป
หากมีลักษณะ เข่าโก่ง เข่าแอ่น หรือเข่าชนกัน ข้อเข่าหลวมมากขึ้น นับเป็นอาการข้อเข่าเสื่อมระยะรุนแรง ทำให้เกิดความไม่มั่นคงระหว่างการเดิน การยืน เดินลำบาก และเสี่ยงต่อการล้ม

หากใครมี5 อาการในข้อนี้ร่วมกับอาการปวดเข่าควรรีบพบแพทย์เพื่อประเมินอาการและวางแผนการรักษาที่ เหมาะสมรวมทั้งดูแลตนเองไม่ให้อาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น

วิธีการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการเกิดภาวะเข่าเสื่อม

5.1 หลีกเลี่ยงการนั่งเก้าอี้เตี้ย นั่งยอง หรือท่านั่งที่มีการงอเข่าเยอะ ๆ
5.2 เลี่ยงการขึ้นลงบันไดที่มีขั้นสูงๆ มากๆ
5.3 การลดน้ำหนักในกรณีน้ำหนักเกิน
5.4 แนะนำการใช้ไม้เท้าในกรณีที่จำเป็นต้องเดินเยอะ
5.5 เพิ่มการออกกำลังกาย โดยท่าออกกำลังกายที่แนะนำควรเป็นท่าที่ทำแล้วไม่มีอาการเจ็บหรือปวดเพิ่มมากขึ้น

วิธีการออกกำลังกาย เพื่อป้องกันภาวะเข่าเสื่อม

ท่าที่ 1 นอนหงาย ชันขา 2 ข้างขึ้น หนีบหมอนหรือลูกบอลเล็กๆ ระหว่างขา 2 ข้าง จากนั้นยกก้นขึ้นค้างไว้ 5 - 10 วินาทีประมาณ 10 ครั้ง ทำ 1 - 2 รอบต่อวัน

รูปภาพ แสดงวิธีการออกกำลังกายเพื่อป้องกันภาวะเข่าเสื่อม

ท่าที่ 2 นอนคว่ำ งอเข่าเข้าหาก้น งอค้างไว้5 – 10 วินาทีทำทีละข้าง ทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง สลับ 2 ข้าง ท่านี้ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขาทางด้านหลัง ทำ 1 - 2 รอบ ต่อวัน

รูปภาพ แสดงวิธีการออกกำลังกายเพื่อป้องกันภาวะเข่าเสื่อม

ท่าที่ 3 นอนหงายเหยียดขาขึ้น สำหรับท่านี้อาจจะต้องมีผ้าหรือเชือกเป็นอุปกรณ์ช่วยในการออกกำลังกาย โดยใช้เชือกหรือผ้าคล้องปลายเท้า ดึงขาขึ้นเหยียดเข่าตรง ให้รู้สึกตึงบริเวณน่อง และต้นขาด้านหลัง (ความรู้สึกตึงแต่ไม่เจ็บ) ค้างไว้10 วินาทีและค่อยๆ วางขาลง ทำซ้ำ 10 – 15 ครั้ง สลับทำทั้ง 2 ข้าง 1 - 2 รอบต่อวัน

รูปภาพ แสดงวิธีการออกกำลังกายเพื่อป้องกันภาวะเข่าเสื่อม

ในกรณีที่มีอาการปวดเข่า แล้วมีปัญหาด้านการทรงตัว น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ หรือปัญหาอื่นๆ แล้วบาดเจ็บหรือมีความกังวล ควรใช้การออกกำลังกายในน้ำ หรือวารีบำบัดภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ เพราะจะช่วยลดโอกาสการบาดเจ็บ และลดแรงกระแทกบริเวณเข่าขณะออกกำลังกายได้เป็นอย่างดี

5 ภาวะที่พบได้บ่อยในอาการปวดเข่า
Posted: December 12, 2023 By: adminrehabcare2 Categories:  Comment:  0

อาการปวดเข่าเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งการวินิจฉัยเป็นสิ่งสำคัญต่อการรักษา เบื้องต้นสามารถซักประวัติและตรวจร่างกายได้ ถ้าต้องการให้มีความแม่นยำและชัดเจน สามารถตรวจยืนยันได้ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์วินิจฉัย (musculoskeletal ultrasounds/MSK US) ซึ่ง 5 ภาวะที่พบบ่อยของอาการปวดเข่าเมื่อตรวจดูด้วยเครื่องอัลตราซาวด์วินิจฉัย ได้แก่

1. ข้อเข่าเสื่อม (Knee osteoarthritis) ภาพในอัลตราซาวด์จะพบช่องว่างระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้งที่ ลดลงจากปกติรวมถึงอาจมีกระดูกงอกเกิดขึ้นได้อาการที่พบคือ ขัดเสียวในข้อเข่าและมีเสียงกร๊อบแกร๊บ

ภาพแสดง ข้อเข่าเสื่อมจากการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์

2. ภาวะข้อเข่าอักเสบ (Knee arthritis) ภาพในอัลตราซาวด์จะพบว่ามีสีดำภายในข้อเข่า บ่งบอกถึงมีสารน้ำอักเสบเกิดขึ้น จะทำให้มีอาการปวดเวลาลงน้ำหนักหรืองอเหยียดเข่า

ภาพแสดง ข้อเข่าอักเสบจากการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์

3. ถุงน้ำเข่าด้านในอักเสบ (Pes anserinus bursitis) ภาพในอัลตราซาวด์จะพบว่ามีสีดำบริเวณถุงน้ำ (bursa) อาการที่ พบคือ เจ็บเข่าทางด้านใน เกิดจากการอักเสบของถุงน้ำ (bursitis) ที่อยู่ระหว่างกระดูกหน้าแข้ง (tibia) กับเส้นเอ็น (pes anserinus)

ภาพแสดง ถุงน้ำบริเวณเข่าด้านในอักเสบจากการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์

4. ถุงน้ำข้อพับเข่าอักเสบ (Baker's cyst) ภาพในอัลตราซาวด์จะพบว่ามีก้อนสีดำอยู่ที่ชั้นผิวหนังบริเวณข้อพับเข่า ในบาง รายสามารถคลำพบก้อนนูนที่บริเวณใต้ข้อพับเข่า อาจมีอาการปวดเวลาขยับข้อเข่าร่วมด้วย หรือจำกัดการเคลื่อนไหว งอเข่าได้ไม่สุด

ภาพแสดง ถุงน้ำบริเวณหลังข้อพับเข่าอักเสบจากการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์

5. เอ็นหน้าเข่าอักเสบ (Patellar Tendinitis) ภาพในอัลตราซาวด์จะพบความผิดปกติในเส้นเอ็น เช่น มีการเรียงตัวของ เส้นใยหนาตัวมากกว่าปกติมีภาวะฉีกขาด มีสีดำจากสารน้ำอักเสบใต้เส้นเอ็น อาการที่เป็นคือ เจ็บบริเวณหน้าเข่า โดยเฉพาะเวลางอเข่ามากๆ เช่น กระโดด นั่งยอง ขึ้นบันได เป็นต้น

ภาพแสดง เอ็นด้านหน้าเข่าอักเสบจากการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์

แนวทางการรักษาอาการปวดเข่า

เมื่อตรวจประเมินด้วยเครื่องอัลตราซาวด์วินิจฉัย ทำให้ทราบสาเหตุของอาการปวดอย่างแม่นยำแล้วจึงสามารถวางแผน และกำหนดแนวทางการรักษาได้ ดังนี้

1. การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าเทียม คือ การใช้กรดไฮยาลูรอนิก (hyaluronic acid) ที่สร้างขึ้นเลียนแบบธรรมชาติฉีดเข้าไปเติมเต็ม ช่องว่างระหว่างผิวข้อเข่า ทำให้ลดแรงกระทำต่อเข่า (shock absorber) หล่อลื่นผิวข้อ ลดการเสียดสี ลดปวด เหมาะกับผู้ที่มีภาวะ ข้อเข่าเสื่อม เนื่องจากจะช่วยชะลอความเสื่อมและชะลอการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมได้

2. การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น (platelet rich plasma /PRP) คือ การฉีดเกล็ดเลือดความเข้มข้นสูง โดยนำเลือดของตัวเองมาสกัด เอาสารที่มีฤทธิ์ซ่อมแซมและลดการอักเสบ เหมาะกับผู้ที่มีภาวะข้อเข่าอักเสบ ข้อเข่าเสื่อม เอ็นอักเสบ เอ็นฉีก หรือกล้ามเนื้อ อักเสบ ซึ่งสารที่สกัดได้และใช้ในการรักษา มีดังนี้

- เกล็ดเลือด (platelet) จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเม็ดเลือดขาวและเซลล์ต่างๆ เพื่อมาซ่อมแซมเนื้อเยื่อบริเวณที่ได้รับการบาดเจ็บหรือ ฉีกขาด

- โกรทแฟกเตอร์(growth factor) จะกระตุ้นกระบวนการสมานแผล กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อและคอลลาเจน ทำให้เกิดการ ซ่อมแซมอย่างรวดเร็ว

PRP ของรีแฮปแคร์คลินิกมีความพิเศษและปลอดภัยสูงในรูปแบบเกล็ดเลือดเข้มข้น (pure PRP) มีกระบวนการสกัดโดย เครื่องสกัดที่ได้มาตรฐานและผ่านการรับรองจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นการนำเกล็ดเลือดเข้มข้นมาผ่าน แรงเสียดทานด้วยหลอดแก้ว (capillary tube) ขนาดเล็ก ทำให้ช่วยเพิ่มระดับโกรทแฟกเตอร์สูงขึ้นถึง 2 เท่า และมีความเข้มข้น ของเกล็ดเลือดมากถึง 10 - 17 เท่า ส่งผลให้เมื่อฉีดแล้วเกิดกระบวนการซ่อมแซมของร่างกายเร็วขึ้น ช่วยลดอาการบาดเจ็บ ทำให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับ PRP โดยทั่วไป โดยปกติมักเห็นผลดีขึ้นตั้งแต่เข็มแรกของการฉีด

3. การรักษาทางกายภาพบำบัด คือ การใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น focus shockwave (พลังงานคลื่นกระแทก) ช่วยกระตุ้นการ ซ่อมแซมกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบข้อเข่าที่มีการบาดเจ็บ, high power laser (เลเซอร์พลังงานสูง) ช่วยลดการอักเสบและเติม พลังงานให้เซลล์เร่งกระบวนการซ่อมแซม, การออกกำลังกายเฉพาะบุคคลและวารีบำบัดให้ร่างกายและกล้ามเนื้อแข็งแรง ป้องกัน การบาดเจ็บซ้ำ

การรักษาทั้ง 3 รูปแบบ หากนำมาใช้ร่วมกันจะทำให้เห็นผลการรักษาได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการปฏิบัติตามที่นัก กายภาพบำบัดและแพทย์แนะนำ จะทำให้ลดโอกาสการกลับมาปวดซ้ำได้เป็นอย่างดี

คลินิกรีแฮปแคร์มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ด้านการฉีดยาผ่านกล้องอัลตราซาวด์ โดยแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ ฟื้นฟูทำให้แม่นยำ ตรงจุด ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูง

ปวดเข่าด้านใน เกิดจากอะไรกันแน่? ตอนที่ 1
Posted: July 14, 2021 By: adminrehabcare2 Categories:  Comment:  0

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกช่วงวัย เนื่องจากเข่าเป็นฐานรองรับน้ำหนักของร่างกายและยังใช้เคลื่อนไหวในกิจกรรมส่วนใหญ่ ทั้งการเดิน วิ่ง การนั่งขัดสมาธิ การเล่นกีฬาชนิดต่างๆ โดยในวันนี้แอดมินจะพาทุกคนมารู้จักกับโรคต่างๆที่ทำให้เกิดอาการปวดทางด้านในของเข่ากัน

Pes anserine bursitis

Pes anserine bursitis คืออะไร ??

เป็นการอักเสบของถุงน้ำ (Bursa) ที่อยู่ระหว่างกระดูกหน้าแข้ง (Tibia) และเส้นเอ็นของกล้ามเนื้อขาทั้ง 3 มัดหรือ Pes anserinus นั่นเอง โดยตัวถุงน้ำนี้จะทำหน้าที่ช่วยรองรับแรงกระแทกและลดแรงเสียดทานขณะเคลื่อนไหว เมื่อมีการเสียดสีของถุงน้ำกับโครงสร้างอื่นๆโดยรอบมากเกินไปจึงเกิดการอักเสบขึ้น เรียกว่า Bursitis 

Pes anserine bursitis คืออะไร ??

หลังจากรู้จักเจ้าถุงน้ำสาเหตุหลักของปัญหาเรากันแล้วก็มาดูที่โครงสร้างอื่นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการอักเสบกันเถอะ

Pes anserine เป็นชื่อเรียกจุดเกาะของกล้ามเนื้อต้นขา 3 มัด ได้แก่ Sartorius, Gracilis และ Semitendinosus ซึ่งหน้าที่โดยหลักของกล้ามเนื้อเหล่านี้ คือ การงอเข่าและหมุนขาเข้าด้านใน (Knee flexion and tibial internal rotation)

  Pes anserine


สาเหตุของโรค Pes anserine bursitis

1. การใช้งานเข่าอย่างหนักและต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการใช้งานกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการงอเข่า ซึ่งจะทำให้เกิดการเสียดสีที่ Pes anserine bursa มากยิ่งขึ้นส่งผลให้เกิดการอักเสบได้

2. การได้รับอุบัติเหตุบริเวณข้อเข่าหรือแรงกระแทกโดยตรงที่บริเวณเข่าด้านใน

3. ขาดการยืดกล้ามเนื้อที่เหมาะสมก่อนการวิ่งหรือการออกกำลังกาย 

4. ผู้ที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมหรือภาวะเข่าบิดเข้าด้านใน (Knock knee) มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดโรคนี้ได้


อาการของโรค Pes anserine bursitis

- มีอาการปวดบริเวณเข่าด้านในตอนใช้งาน โดยจะปวดเพิ่มมากขึ้นเมื่อขึ้นหรือลงบันได

- พบจุดกดเจ็บบริเวณจุดเกาะของกล้ามเนื้อ pes anserine ที่มีถุงน้ำอยู่ใต้ต่อ ซึ่งจะคลำได้ตรงด้านในส่วนต้นของกระดูก tibia ต่ำกว่าแนวข้อเข่าลงมาเล็กน้อย 

- ในรายที่เพิ่งเริ่มมีอาการอาจมีบวม แดง ร้อนบริเวณเข่าด้านในร่วมด้วย

- ในบางราย อาจมีกำลังกล้ามเนื้อที่ลดลง มีองศาการเคลื่อนไหวที่ลดลง หรือมีรูปแบบการเดินที่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติได้


วิธีการดูแลรักษาต้นเองเบื้องต้น

- ในระยะแรก หากยังมีอาการบวม แดง และร้อนบริเวณข้อเข่าด้านใน แนะนำให้พักการใช้งานเข่าข้างที่มีอาการ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอาการ เช่นการขึ้นลงบันได การวิ่ง และประคบเย็นบริเวณที่มีอาการปวดประมาณ15 -20 นาที จะช่วยบรรเทาอาการปวดและบวมได้

วิธีการดูแลรักษาต้นเองเบื้องต้น


ท่าบริหารกล้ามเนื้อต้นขาในผู้ที่มีอาการปวดเข่าด้านใน

1. ท่ายืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง 

วิธียืด : นอนหงาย คลองยางยืดหรือผ้าไว้บริเวณใต้ส้นเท้า ยกขาขึ้นจนถึงระดับที่รู้สึกตึงบริเวณด้านหลังของขา โดยที่เข่ายังเหยียดตรงอยู่ ยืดค้างไว้ 15 วินาที ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง

ท่ายืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง

2. ท่ายืดกล้ามเนื้อหน้าขา  

วิธียืด : ยืนตรง งอเข่าข้างที่ต้องการยืดขึ้นพร้อมใช้มือช่วยในการเหยียดสะโพกไปด้านหลังจนถึงจุดที่รู้สึกตึง ดังรูป ยืดค้างไว้ 15 วินาที ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง

ท่ายืดกล้ามเนื้อหน้าขา

3. ท่ายืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านใน 

วิธียืด : นั่งขัดสมาธิโดยนำปลายเท้าทั้งสองข้างชนกัน ดันปลายเท้าเข้าชิดกับลำตัวจนรู้สึกตึงบริเวณต้นขาด้านใน วางศอกลงบนต้นขาและดันลงพร้อมกับโน้มตัวมาด้านหน้าเล็กน้อยโดยที่หลังยังตรงอยู่ ยืดค้างไว้ 15 วินาที ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง

ท่ายืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านใน

4. ท่าออกกำลังกายเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อหน้าขา 

วิธีทำ : นั่งเก้าอี้ เตะขาขึ้นช้าๆจนเข่าเหยียดตรง เกร็งหน้าขาค้างไว้ 10 วินาที ทำทั้งหมด 10 ครั้ง 3 เซต 

ท่าออกกำลังกายเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อหน้าขา

5. ท่าออกกำลังกายกล้ามเนื้อสะโพก 

วิธีทำ : นอนตะแคง พร้อมงอเข่าทั้งสองข้าง เปิดขากางสะโพกออกประมาณ 90 องศา ทำทั้งหมด 10 ครั้ง 3 เซต 

ท่าออกกำลังกายกล้ามเนื้อสะโพก

สามารถติดต่อเพื่อปรึกษาปัญหาสุขภาพได้กับทางรีแฮปแคร์คลินิกโดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นและนักกายภาพบำบัดเฉพาะทาง

สอบถามเพิ่มเติมที่ "รีแฮป แคร์ คลินิก"

ที่อยู่ : 423 ถนนเพชรเกษม แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กทม. (อยู่ในศูนย์กีฬากันอริ ก่อนถึงซีคอนบางแค) ? 061-801-2482 Line ID : @rehabcare

วิ่งแล้วเจ็บเข่าด้านข้าง...เอ็นข้างเข่าอักเสบ
Posted: July 13, 2021 By: adminrehabcare2 Categories:  Comment:  0

เอ็นข้างเข่าอักเสบ หรือ Iiotibial Band syndrome (ITB syndrome) โรคที่พบมากเป็นอันดับต้นๆในนักวิ่งหรือกลุ่มคนชอบวิ่ง
เรามาทำความรู้จักกล้ามเนื้อและโครงสร้างที่มีปัญหากันสักเล็กน้อยนะคะ

ITBS

IT band (iliotibial band) เป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่มีความหนามาก เกาะตั้งแต่สะโพกส่วนบนลงมาถึงบริเวณด้านข้างของหัวเข่า โดย ITB จะเชื่อมต่อกับ TFL ,Gluteus maximus , Gluteus medius,Hamstring และ Quadriceps ด้านข้าง

Tensor fasciae latae (TFL) เป็นกล้ามเนื้อทางด้านข้างของสะโพก เกาะอยู่ที่ส่วนหน้าของกระดูกเชิงกรานทำหน้าที่กางและหมุนขาเข้าด้านใน

Gluteus maximus ทำหน้าที่เหยียดขา กางต้นขา หมุนต้นขา ไปทางด้านข้าง 

Gluteus medius มีหน้าที่สำคัญในการกางสะโพก และช่วยเพิ่มความมั่นคงให้แก่ข้อสะโพก


เพราะอะไรทำไมวิ่งแล้วเจ็บด้านข้างเข่า

- กล้ามเนื้อ Gluteus medius ที่ทำหน้าที่กางสะโพก ไม่แข็งแรง  จากรูป ภาพ B เมื่อยืนบนขาข้างเดียว กระดูกเชิงกรานด้านขาที่ยกขึ้นจะลดต่ำลง ลำตัวก็จะเอียงออกจากขาที่ยืนอยู่ และแรงที่พื้นกระทำต่อเราจะผ่านด้านในข้อเข่ามากขึ้น ซึ่งจะทำให้เอ็นข้างต้นขา (iliotibial band) ทำงานมากขึ้น และเพิ่มแรงกดด้านในข้อเข่าด้วย ทำให้เกิดการวิ่งไขว้ขา (จากงานวิจัยพบว่า นักวิ่งที่มีปัญหาเอ็นข้างเข่าอักเสบ เวลาวิ่งขาจะมีการเฉียงเข้าด้านในมากกว่า ก็คือการวิ่งไขว้ขานั่นเอง) 

เพราะอะไรทำไมวิ่งแล้วเจ็บด้านข้างเข่า

- การเคลื่อนไหวของขาที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะเมื่อวิ่ง แล้วมีการหมุนข้อเข่า หรือปลายเท้าเข้าด้านใน

การเคลื่อนไหวของขาที่ไม่ถูกต้อง


เมื่อเป็นแล้วมีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง?

- หากมีอาการบวมแดงร้อน ให้ประคบเย็นบริเวณเข่าด้านนอก 15-20 นาที ร่วมกับพักการใช้งาน

- หากเป็นมานาน และไม่มีอาการบวมแดงร้อน ให้ประคบอุ่นบริเวณด้านข้างต้นขาและเข่า 15-20 นาที แล้วยืดกล้ามเนื้อ

การฉีดยา (Prolotherapy Injection) คือฉีดกลูโคสเข้าไปที่บริเวณกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บ หรือมีการอักเสบ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมเร่งกระบวนการฟื้นฟูและรักษาตามธรรมชาติ โดยจะใช้เครื่องอัลตราซาวน์ในการนำการฉีดยา เพิ่มความปลอดภัยและแม่นยำในการฉีด และลดความเสี่ยงการฉีดไปโดนเส้นประสาท

การฉีดยา Prolotherapy Injection

การรักษาทางกายภาพบำบัด เป็นการรักษาจากต้นเหตุของปัญหา แก้ไขโครงสร้างกระดูกกล้ามเนื้อที่เป็นปัญหาโดยตรง ฟื้นฟูให้คุณกลับมาทำกิจวัตรประจำวันหรือเล่นกีฬาได้อย่างปลอดภัยและไร้อาการเจ็บ ปัจจุบันวิธีการรักษาทางกายภาพบำบัดก้าวล้ำไปมาก มีทั้งเทคนิควิธีการรักษาที่ทันสมัยและเทคโนโลยีที่คุณภาพสูง

การใช้ Therapeutic ultrasound เข้าไปช่วยเร่งกระบวนการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อ โดยการเพิ่มการไหลเวียนของเลือด นำออกซิเจนและสารอาหารต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่ใช้ในขบวนการซ่อมแซมมาให้กับเนื้อเยื่อเหล่านี้ คุณจะเห็นถึงผลต่างทันทีหลังการรักษา

การใช้ Therapeutic ultrasound

การใช้ High Power LASER therapy เข้าไปช่วยเร่งกระบวนการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อ ช่วยลดปวด โดยกระตุ้นให้ไมโตรคอนเดรียซึ่งเป็นแหล่งพลังงานในเซลล์เนื้อเยื่อทำงานได้อย่างประสิทธิภาพในการซ่อมตัวเองเร็วยิ่งขึ้น เหมาะสำหรับเนื้อเยื่อที่มีน้ำหรือเลือดมาเลี้ยงน้อย อาทิเช่น เอ็นข้อต่อ เอ็นกล้ามเนื้อ ในร่างกาย

การใช้ High Power LASER therapy เข้าไปช่วยเร่งกระบวนการซ่อมแซม


การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อที่มีปัญหา

คลายกล้ามเนื้อบริเวณที่ตึง ด้วย Foam Roller  ทำ10-15 ครั้ง
***แต่ไม่ควรกลิ้งโฟมบนบริเวณที่มีอาการเจ็บโดยตรง

คลายกล้ามเนื้อบริเวณที่ตึง ด้วยFoam Roller

นอนหงาย เหยียดเข่าทั้ง 2 ข้าง ยกขาขึ้นค้างไว้ 3 วินาที แล้ววางลงช้าๆ ทำ 15 ครั้ง 3 รอบ

นอนหงาย เหยียดเข่าทั้ง 2 ข้างยกขาขึ้นค้างไว้ 3 วินาที แล้ววางลงช้าๆ

นอนหงาย งอเข่า 45 องศา และรัดยางยืดไว้เหนือเข่า ค่อยๆกางสะโพกออก ค้างไว้ 3 วินาที แล้ววางลงช้าๆ ทำ 15 ครั้ง 3 รอบ

นอนหงาย งอเข่า 45 องศา และรัดยางยืดไว้เหนือเข่า ค่อยๆกางสะโพกออก ค้างไว้ 3 วินาที แล้ววางลง

ยืนกางขาเล็กน้อย ย่อเข่า ตัวตรง และสวมยางยืดไว้เหนือเข่า แล้วค่อยๆก้าวออกไปด้านข้าง แล้วค้างไว้ 3 วินาที แล้วหุบขากลับมาท่าเริ่มต้น ทำ 15 ครั้ง 3 รอบ

ยืนกางขาเล็กน้อย ย่อเข่า ตัวตรง และสวมยางยืดไว้เหนือเข่าแล้วค่อยๆก้าวออกไปด้านข้าง แล้วค้างไว้ 3 วินาที แล้วหุบขากลับมาท่าเริ่มต้น

อาการบาดเจ็บ อย่าปล่อยไว้นาน อย่าคิดว่ามันคงไม่เป็นอะไรหรอก จริงๆแล้วยิ่งปล่อยไว้นานการรักษาจะยากและค่อนข้างใช้เวลานาน กว่าจะดีขึ้น ช้าไปร่างกายส่วนอื่นจะพังไปด้วยนะจ๊ะ ^^

 

สามารถติดต่อเพื่อปรึกษาปัญหาสุขภาพได้กับทางรีแฮปแคร์คลินิกโดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นและนักกายภาพบำบัดเฉพาะทาง  

สอบถามเพิ่มเติมที่ "รีแฮป แคร์ คลินิก"

ที่อยู่ : 423 ถนนเพชรเกษม แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กทม. (อยู่ในศูนย์กีฬากันอริ ก่อนถึงซีคอนบางแค) ? 061-801-2482 Line ID : @rehabcare