การนั่งไขว่ห้าง เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้บ่อยในทั้งเพศหญิงและชาย เนื่องด้วยความรู้สึกสะดวกสบายเวลานั่ง หลายๆคนจึงทำจนติดเป็นนิสัย แต่หากเรานั่งด้วยท่าทางที่ทำให้เกิดการลงน้ำหนักไปที่ข้างใดข้างหนึ่งของร่างกายมากกว่าปกติต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจนเกินไป จะส่งผลเสียต่อร่างกายของเราได้มากมาย ตัวอย่างเช่น
ภาพแสดง การเปรียบเทียบแนวกระดูกสันหลังขณะนั่งไขว่ห้าง (ซ้าย) และท่านั่งตรง (ขวา)
1. ส่งผลต่อสรีระของร่างกายให้เกิดการไหล่ห่อ เนื่องจากการนั่งไขว่ห้างทำให้เกิดการงอพับของข้อสะโพกมากกว่าปกติ จึงทำให้หลังงอและลำตัวโน้มไปด้านหน้ามากขึ้น จนเกิดเป็นพฤติกรรมไหล่ห่อได้
2. ปวดหลังหรือปวดสะโพก เนื่องจากการนั่งไขว่ห้างจะมีการยกขามาไขว้ทับกัน มีการลงน้ำหนักที่สะโพกไม่เท่ากัน ร่วมกับช่วงลำตัวเกิดการบิดหมุน จึงทำให้กล้ามเนื้อทั้ง 2 ข้างทำงานไม่สมดุลกัน เป็นสาเหตุของอาการปวดเอว ปวดหลังได้
ภาพแสดง การเอียงของแนวกระดูกสันหลังและสะโพก
3. เกิดความผิดปกติของกระดูกสันหลัง หรือ เป็นกระดูกสันหลังคด ภาวะการบิดหมุนของกระดูกสันหลังเกิดเป็นความโค้งงอรูปตัว S หรือ C เนื่องจากการนั่งไขว่ห้างทำให้เกิดการบิดหมุนของแนวกระดูกสันหลังและกระดูกเชิงกราน เพื่อให้มีการถ่ายเทน้ำหนักได้อย่างสมดุลขณะที่นั่ง ส่งผลให้แนวกระดูกสันหลังมีความเอียงเกิดขึ้น และหากยังไม่มีการปรับพฤติกรรมในการนั่งอาจจะทำให้โครงสร้างของกระดูกสันหลังมีการเปลี่ยนแปลง จนเกิดเป็นกระดูกสันหลังคดได้
4. กระดูกสันหลังเสื่อม การไขว่ห้างนั้นทำให้เกิดการบิดหมุนของแนวกระดูกสันหลัง ประกอบกับการลงหนักที่ไม่เท่ากันของทั้งสองข้าง ทำให้ด้านที่รับน้ำหนักนั้นเสี่ยงในการเกิดความเสื่อมของหลังได้มากกว่า
5. ปวดเข่า จากการนั่งไขว้ห้าง ทำให้เกิดการลงน้ำหนักไปที่ขาและเข่าด้านหนึ่งมากกว่าปกติ อีกทั้งยังทำให้เกิดการบิดหมุนของข้อเข่าร่วมด้วย ซึ่งส่งผลโดยตรงกับกระดูกข้อเข่า ด้วยปัจจัยต่างๆเหล่านี้จึงเกิดอาการปวดเข่าได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
ภาพแสดง ตัวอย่างท่านั่งที่ถูกต้อง
ดังนั้นเราจึงควรปรับท่านั่งให้ถูกต้อง โดยการนั่งหลังตรง ก้นชิด ลงน้ำหนักให้เท่ากันทั้ง 2 ข้าง ขาวางราบกับพื้น และมีการเปลี่ยนท่าทางบ่อยๆ เพื่อสุขภาพที่ดีของเรากัน และหากมีปัญหาปวดหลัง ปวดสะโพก ปวดเข่าจากการนั่งในท่าที่ผิด สามารถให้รีแฮปแคร์คลินิกช่วยดูแลได้
ผู้เขียน : กภ.ปุณณภา (ป่าน)
Reference
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5140821/
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/10450120/
ภาวะข้อไหล่ติด คือ ภาวะที่มีการจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ พิสัยการเคลื่อนไหวข้อไหล่ลดลงทั้งแบบขยับเองและผู้อื่นขยับให้ โดยปกติเป็นโรคที่สามารถหายได้ แต่ใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน ส่วนใหญ่คนไข้มักจะทนอาการปวดไม่ได้โดยเฉพาะอาการปวดตอนกลางคืน
ภาวะไหล่ติดจะแบ่งได้ 3 ระยะ ดังนี้
1. ระยะปวด เป็นระยะที่มีอาการปวดมาก แม้มีการขยับไหล่เพียงเล็กน้อย อาการปวดจะค่อยๆเพิ่มขึ้น พิสัยการเคลื่อนไหวไหล่จะน้อยลง ระยะนี้เป็นได้นาน 6 สัปดาห์ถึง 9 เดือน
2. ระยะข้อไหล่ติด อาการปวดค่อยๆ ลดลง แต่ไหล่จะติดมากขึ้น พิสัยการขยับลดลงชัดเจน ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 4-9 เดือน
3. ระยะฟื้นตัว อาการของไหล่ติดจะค่อยๆ ดีขึ้น พิสัยการขยับทำได้มากขึ้น ระยะนี้อาจใช้เวลานาน 6 เดือน ถึง 2 ปี
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นข้อไหล่ติด
ภาวะไหล่ติดสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชาย แต่มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในช่วงอายุประมาณ 40-60 ปี ในบางรายเกิดจากโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ซึ่งพบได้ถึงร้อยละ 20 แต่ที่พบได้บ่อยคือ สาเหตุของการเกิดที่ไม่ทราบแน่ชัด แต่โดยส่วนใหญ่มักเริ่มจากการเจ็บไหล่ อุบัติเหตุบริเวณไหล่ เส้นเอ็นไหล่อักเสบ หรือเยื่อหุ้มข้อไหล่อักเสบจนหนาตัวขึ้นจนทำให้ขยับข้อไหล่ได้น้อยลง
การรักษาในผู้ที่ข้อไหล่ติด
แม้ว่าภาวะไหล่ติดจะสามารถหายได้เอง แต่การรักษาจะช่วยให้คนไข้ไม่ทรมานกับอาการปวด และช่วยเร่งการฟื้นตัวมากขึ้นได้ ซึ่งการรักษาของรีแฮปแคร์คลินิกนั้นมีได้หลายแนวทาง ได้แก่
1. กายภาพบำบัด โดยใช้เครื่องมือในการลดอาการปวดและอักเสบ เร่งกระบวนการฟื้นตัว เช่น โปรแกรม Focus shockwave, โปรแกรม High power laser เป็นต้น รวมถึงการออกกำลังการและการดัดข้อไหล่เพื่อเพิ่มพิสัยการขยับไหล่ให้มากขึ้น
2. การฉีดยา โดยแพทย์เฉพาะทางและนำฉีดด้วยเครื่องอัลตราซาวด์เพื่อให้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพการรักษาที่ดี หรือกลุ่มสเตียรอยด์เข้าไปในข้อไหล่ สำหรับผู้ที่ปวดมาก หรือการฉีดกลูโคสความเข้มข้นสูง (prolotherapy) เพื่อขยายข้อไหล่ให้มีการขยับไหล่ได้ดีขึ้น ซึ่งการฉีดยาจะช่วยให้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำกายภาพบำบัดได้มากขึ้น
หากกำลังเริ่มมีอาการปวดไหล่ ขยับข้อไหล่ได้ไม่สุด หรือทำกิจวัตรประจำวันต่างๆได้น้อยลงจากการปวดไหล่ แนะนำให้รีบพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม
กภ.อารยา (มะปราง)
Reference
Medically Reviewed by Jabeen Begum, MD on November 07, 2023 Written by WebMD Editorial Contributor, Jennifer Walker-Journey
Shoulder Elbow. 2017 Apr; 9(2): 75–84. Published online 2016 Nov 7. doi: 10.1177/1758573216676786
ภาวะไหล่ห่อ (round shoulder) คอยื่น (forward head) หลังค่อม (hypokyphosis) หรือ “ Upper crossed syndrome ” จากงานวิจัยของ V Janda (2013) อธิบายไว้ว่า เป็นภาวะที่เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อที่ไม่สมดุลกัน โดยกล้ามเนื้อบางส่วนไม่แข็งแรงและยืดยาวออก ในขณะที่กล้ามเนื้ออีกฝั่งมีการตึงตัวและหดสั้น ซึ่งพบว่ากล้ามเนื้อมัดลึกในการก้มคอ (deep cervical flexor) และกล้ามเนื้อบริเวณสะบัก (middle & lower trapezius, rhomboid, serratus anterior) มีการยืดยาวออก ร่วมกับกล้ามเนื้อคอ - บ่า (suboccipital, upper trapezius, levator scapulae) และกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก (pectoralis major and minor) มีการตึงตัว จากความไม่สมดุลกันที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวในรูปแบบที่ไม่เหมาะสมในแต่ละบุคลล และอาจนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น
- อาการปวดบริเวณคอ บ่า และสะบัก โดยมักมีจุดกดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อที่มีการตึงตัวมาก อาจส่งผลให้มีอาการปวดร้าวไปที่ศีรษะ ขมับ เบ้าตา หรือร้าวลงแขนได้
- การกดทับบริเวณรากประสาทส่วนคอ โดยลักษณะคอที่ยื่นออกทางด้านหน้า ส่งผลให้เกิดการรบกวนบริเวณรากประสาทส่วนคอ อาจทำให้เกิดอาการปวดร้าว หรือชาร้าวลงแขนร่วมด้วยได้
- ส่งผลต่อการขยายตัวของทรวงอก ทำให้ทรวงอกไม่สามารถขยายตัวได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้การขยายตัวของปอดลดลง ความจุปอดลดลง ดังนั้นในบางคนอาจรู้สึกหายใจได้สั้น-ตื้น หรือหายใจไม่อิ่มได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อ และนำมาซึ่ง Upper crossed syndrome นั้นมักเกิดจากลักษณะท่าทางการทำงาน เช่น พนักงานออฟฟิศที่นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน พนักงานขับรถที่ต้องจับพวงมาลัยเป็นระยะเวลานาน หรือแม้กระทั่งนักเรียน นักศึกษาที่ต้องนั่งเรียนและอ่านหนังสือหลายชั่วโมงติดต่อกัน นอกจากนี้พฤติกรรมที่มักอยู่ในท่าทางก้มเป็นระยะเวลานานๆ เช่น การเล่นโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต การกอดอก การสะพายกระเป๋าเป้หนักๆ การนอนคว่ำอ่านหนังสือ หรืออิริยาบถใดๆ ที่กระทำซ้ำๆ และต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โดยไม่เปลี่ยนท่าก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาวะไหล่ห่อ คอยื่น และหลังค่อมได้
วิธีตรวจเช็คภาวะไหล่ห่อ คอยื่น หลังค่อม
วิธีตรวจเช็คภาวะไหล่ห่อ คอยื่น หลังค่อม สามารถตรวจได้ง่ายๆที่บ้าน
วิธีที่ 1 เพียงแค่ยืนตัวตรงด้านหน้ากำแพง ปล่อยไหล่สบายๆ ไม่พยายามบีบหัวไหล่เข้าหากัน หากด้านหลังของศรีษะ และด้านหลังของหัวไหล่ไม่สัมผัสกับผนัง นั่นเป็นสัญญาณบอกว่ากำลังมีภาวะไหล่ห่อ คอยื่น หลังค่อมได้
วิธีที่ 2 ถ่ายรูปตนเอง ขณะยืนตรงจากทางด้านข้าง จากนั้นลากเส้นสมมติตั้งตรงในแนวดิ่ง โดยเริ่มจากตาตุ่มทางด้านนอก ลากตั้งฉากตรงขึ้นไปจนถึงศรีษะ ซึ่งลักษณะท่าทางที่ดีเมื่อลากเส้นตรงจากตาตุ่มทางด้านนอก จะต้องผ่านกึ่งกลางของข้อเข่า ปุ่มกระดูกบริเวณสะโพก ปุ่มกระดูกบริเวณกึ่งกลางหัวไหล่ และรูหู เช่นกันหากบริเวณปุ่มกระดูกต่างๆ อยู่ค่อนไปทางด้านหน้าของเส้นสมมติ แสดงถึงภาวะไหล่ห่อ คอยื่น และหลังค่อม
วิธีการรักษา
1.วิธีการรักษาทางการแพทย์ มีหลากหลายวิธี เช่น การรักษาโดยการฝังเข็มคลายจุดเกร็งกล้ามเนื้อ (dry needling) การฉีดกลูโคสหรือน้ำตาล (prolotherapy) การฉีดเกล็ดเลือดสกัดเข้มข้น (PRP) เพื่อซ่อมแซมจุดอักเสบ เป็นต้น
2.วิธีการรักษาทางกายภาพบำบัด เพื่อลดอาการปวดและการอักเสบโดยการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด เช่น คลื่นกระแทก (focus shockwave) คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (PMS : Peripheral Magnetic Stimulation) เลเซอร์พลังงานสูง (high power laser) คลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasound) เป็นต้น ซึ่งทำร่วมกับโปรแกรมการออกกำลังการเฉพาะบุคคลเพื่อลดโอกาสการเป็นซ้ำ
ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์หรือการทำกายภาพบำบัด สิ่งที่สำคัญและไม่ควรละเลยในการรักษา ภาวะไหล่ห่อ คอยื่น หลังค่อม คือ การออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกลุ่มกล้ามเนื้อมัดที่อ่อนแรง ร่วมกับการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกลุ่มกล้ามเนื้อที่หดเกร็งและมีความตึงตัวสูง และเพื่อผลการรักษาที่ดีขึ้นควรทำร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นระยะเวลานานๆ จัดโต๊ะทำงานให้เหมาะสมกับการทำงานและสะดวกต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย
รีแฮปแคร์คลินิกมีท่าออกกำลังกายสำหรับ Upper crossed syndrome มาแนะนำกัน
1.Wall Stretch เพื่อยืดกล้ามเนื้อหน้าอกทางด้านหน้า (pectoralis)
ภาพแสดง Wall Stretch
2.Stretching upper trapezius เพื่อยืดกล้ามเนื้อคอบ่า (upper trapezius)
ภาพแสดง Stretching upper trapezius
3.Wall Slides เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสะบัก (middle & lower trapezius, rhomboid, serratus anterior)
ภาพแสดง Wall Slides
4.Scapula retraction เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสะบักด้านใน (rhomboid)
ภาพแสดง Scapula retraction
5.Chin tuck เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอมัดลึก และช่วยลดภาวะคอยื่น
ภาพแสดง Chin tuck
หากเริ่มมีอาการปวด หรืออยากตรวจประเมินโครงสร้างร่างกายว่ามีภาวะไหล่ห่อคอยื่นหรือไม่ สามารถปรึกษาคลินิกได้
กภ.ธนพร (โบนัส)
Reference
https://www.physio-pedia.com/Upper-Crossed_Syndrome
https://pt.mahidol.ac.th/knowledge/?p=1985
https://abbottcenter.com/bostonpaintherapy/2009/05/26/rotator-cuff-and-shoulder-pain-5-stretches/
https://www.menshealth.com/fitness/a28723564/pullup-training-workout/
https://learnmuscles.com/glossary/upper-trapezius-stretching-2/
https://markgibsonphysio.com/2017/12/31/a-scapula-retraction/
หัวไหล่เป็นหนึ่งในข้อต่อที่สำคัญของร่างกาย เคลื่อนไหวได้หลายทิศทาง ข้อไหล่จึงเป็นหนึ่งในข้อต่อที่เคลื่อนไหวและถูกใช้ในการทำกิจกรรมและกิจวัตรประจำวันของเรามากที่สุดข้อหนึ่ง โดยบริเวณหัวไหล่ประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นต่างๆ ทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหว และถ้าหากเราทำท่าทางการเคลื่อนไหวที่ผิด อาจเป็นการทำร้ายข้อไหล่โดยไม่รู้ตัว วันนี้เรามารู้จักท่าทางที่ผิดๆ ที่มักเผลอทำกันจนเป็นการทำร้ายข้อไหล่ และส่งผลให้เกิดโรคเกี่ยวกับอาการปวดไหล่หรืออันตรายถึงขึ้นเอ็นหัวไหล่ฉีกตามมา
5 ท่าที่ทำโดยไม่รู้ตัวเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดไหล่
ท่าที่ 1 นอนตะแคงทับแขนตัวเอง ทำให้ข้อไหล่ถูกกดทับและเกิดแรงกดทับต่อกล้ามเนื้อไหล่และเส้นเอ็น ทำให้เกิดอาการปวดไหล่จากการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณนั้นได้
โดยท่านอนตะแคงที่ถูกต้องคือต้องไม่นอนทับแขนตัวเอง เหยียดแขนออกมาเล็กน้อยและใช้การกอดหมอนหรือกอดหมอนข้างเพื่อลดการกดทับของข้อไหล่
ท่าที่ 2 หิ้วของหนัก เนื่องจากกล้ามเนื้อทำงานหนัก (overuse) เส้นเอ็นจึงถูกดึงกระชากจากน้ำหนักของที่มากขึ้น ทำให้เกิดการบาดจ็บของเส้นเอ็นกล้ามนื้อไหล่ได้ เช่น การหิ้วถังน้ำ หิ้วผลไม้ ที่มีน้ำหนักมากเป็นเวลานานๆ
โดยท่าที่ถูกคือ แบ่งน้ำหนักให้น้อยลงและยกของให้แนบชิดลำตัวให้มากที่สุด เพื่อลดการทำงานของกล้ามเนื้อไหล่