การนั่งไขว่ห้าง เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้บ่อยในทั้งเพศหญิงและชาย เนื่องด้วยความรู้สึกสะดวกสบายเวลานั่ง หลายๆคนจึงทำจนติดเป็นนิสัย แต่หากเรานั่งด้วยท่าทางที่ทำให้เกิดการลงน้ำหนักไปที่ข้างใดข้างหนึ่งของร่างกายมากกว่าปกติต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจนเกินไป จะส่งผลเสียต่อร่างกายของเราได้มากมาย ตัวอย่างเช่น
ภาพแสดง การเปรียบเทียบแนวกระดูกสันหลังขณะนั่งไขว่ห้าง (ซ้าย) และท่านั่งตรง (ขวา)
1. ส่งผลต่อสรีระของร่างกายให้เกิดการไหล่ห่อ เนื่องจากการนั่งไขว่ห้างทำให้เกิดการงอพับของข้อสะโพกมากกว่าปกติ จึงทำให้หลังงอและลำตัวโน้มไปด้านหน้ามากขึ้น จนเกิดเป็นพฤติกรรมไหล่ห่อได้
2. ปวดหลังหรือปวดสะโพก เนื่องจากการนั่งไขว่ห้างจะมีการยกขามาไขว้ทับกัน มีการลงน้ำหนักที่สะโพกไม่เท่ากัน ร่วมกับช่วงลำตัวเกิดการบิดหมุน จึงทำให้กล้ามเนื้อทั้ง 2 ข้างทำงานไม่สมดุลกัน เป็นสาเหตุของอาการปวดเอว ปวดหลังได้
ภาพแสดง การเอียงของแนวกระดูกสันหลังและสะโพก
3. เกิดความผิดปกติของกระดูกสันหลัง หรือ เป็นกระดูกสันหลังคด ภาวะการบิดหมุนของกระดูกสันหลังเกิดเป็นความโค้งงอรูปตัว S หรือ C เนื่องจากการนั่งไขว่ห้างทำให้เกิดการบิดหมุนของแนวกระดูกสันหลังและกระดูกเชิงกราน เพื่อให้มีการถ่ายเทน้ำหนักได้อย่างสมดุลขณะที่นั่ง ส่งผลให้แนวกระดูกสันหลังมีความเอียงเกิดขึ้น และหากยังไม่มีการปรับพฤติกรรมในการนั่งอาจจะทำให้โครงสร้างของกระดูกสันหลังมีการเปลี่ยนแปลง จนเกิดเป็นกระดูกสันหลังคดได้
4. กระดูกสันหลังเสื่อม การไขว่ห้างนั้นทำให้เกิดการบิดหมุนของแนวกระดูกสันหลัง ประกอบกับการลงหนักที่ไม่เท่ากันของทั้งสองข้าง ทำให้ด้านที่รับน้ำหนักนั้นเสี่ยงในการเกิดความเสื่อมของหลังได้มากกว่า
5. ปวดเข่า จากการนั่งไขว้ห้าง ทำให้เกิดการลงน้ำหนักไปที่ขาและเข่าด้านหนึ่งมากกว่าปกติ อีกทั้งยังทำให้เกิดการบิดหมุนของข้อเข่าร่วมด้วย ซึ่งส่งผลโดยตรงกับกระดูกข้อเข่า ด้วยปัจจัยต่างๆเหล่านี้จึงเกิดอาการปวดเข่าได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
ภาพแสดง ตัวอย่างท่านั่งที่ถูกต้อง
ดังนั้นเราจึงควรปรับท่านั่งให้ถูกต้อง โดยการนั่งหลังตรง ก้นชิด ลงน้ำหนักให้เท่ากันทั้ง 2 ข้าง ขาวางราบกับพื้น และมีการเปลี่ยนท่าทางบ่อยๆ เพื่อสุขภาพที่ดีของเรากัน และหากมีปัญหาปวดหลัง ปวดสะโพก ปวดเข่าจากการนั่งในท่าที่ผิด สามารถให้รีแฮปแคร์คลินิกช่วยดูแลได้
ผู้เขียน : กภ.ปุณณภา (ป่าน)
Reference
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5140821/
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/10450120/