ภาวะข้อไหล่ติด คือ ภาวะที่มีการจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ พิสัยการเคลื่อนไหวข้อไหล่ลดลงทั้งแบบขยับเองและผู้อื่นขยับให้ โดยปกติเป็นโรคที่สามารถหายได้ แต่ใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน ส่วนใหญ่คนไข้มักจะทนอาการปวดไม่ได้โดยเฉพาะอาการปวดตอนกลางคืน
ภาวะไหล่ติดจะแบ่งได้ 3 ระยะ ดังนี้
1. ระยะปวด เป็นระยะที่มีอาการปวดมาก แม้มีการขยับไหล่เพียงเล็กน้อย อาการปวดจะค่อยๆเพิ่มขึ้น พิสัยการเคลื่อนไหวไหล่จะน้อยลง ระยะนี้เป็นได้นาน 6 สัปดาห์ถึง 9 เดือน
2. ระยะข้อไหล่ติด อาการปวดค่อยๆ ลดลง แต่ไหล่จะติดมากขึ้น พิสัยการขยับลดลงชัดเจน ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 4-9 เดือน
3. ระยะฟื้นตัว อาการของไหล่ติดจะค่อยๆ ดีขึ้น พิสัยการขยับทำได้มากขึ้น ระยะนี้อาจใช้เวลานาน 6 เดือน ถึง 2 ปี
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นข้อไหล่ติด
ภาวะไหล่ติดสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชาย แต่มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในช่วงอายุประมาณ 40-60 ปี ในบางรายเกิดจากโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ซึ่งพบได้ถึงร้อยละ 20 แต่ที่พบได้บ่อยคือ สาเหตุของการเกิดที่ไม่ทราบแน่ชัด แต่โดยส่วนใหญ่มักเริ่มจากการเจ็บไหล่ อุบัติเหตุบริเวณไหล่ เส้นเอ็นไหล่อักเสบ หรือเยื่อหุ้มข้อไหล่อักเสบจนหนาตัวขึ้นจนทำให้ขยับข้อไหล่ได้น้อยลง
การรักษาในผู้ที่ข้อไหล่ติด
แม้ว่าภาวะไหล่ติดจะสามารถหายได้เอง แต่การรักษาจะช่วยให้คนไข้ไม่ทรมานกับอาการปวด และช่วยเร่งการฟื้นตัวมากขึ้นได้ ซึ่งการรักษาของรีแฮปแคร์คลินิกนั้นมีได้หลายแนวทาง ได้แก่
1. กายภาพบำบัด โดยใช้เครื่องมือในการลดอาการปวดและอักเสบ เร่งกระบวนการฟื้นตัว เช่น โปรแกรม Focus shockwave, โปรแกรม High power laser เป็นต้น รวมถึงการออกกำลังการและการดัดข้อไหล่เพื่อเพิ่มพิสัยการขยับไหล่ให้มากขึ้น
2. การฉีดยา โดยแพทย์เฉพาะทางและนำฉีดด้วยเครื่องอัลตราซาวด์เพื่อให้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพการรักษาที่ดี หรือกลุ่มสเตียรอยด์เข้าไปในข้อไหล่ สำหรับผู้ที่ปวดมาก หรือการฉีดกลูโคสความเข้มข้นสูง (prolotherapy) เพื่อขยายข้อไหล่ให้มีการขยับไหล่ได้ดีขึ้น ซึ่งการฉีดยาจะช่วยให้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำกายภาพบำบัดได้มากขึ้น
หากกำลังเริ่มมีอาการปวดไหล่ ขยับข้อไหล่ได้ไม่สุด หรือทำกิจวัตรประจำวันต่างๆได้น้อยลงจากการปวดไหล่ แนะนำให้รีบพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม
กภ.อารยา (มะปราง)
Reference
Medically Reviewed by Jabeen Begum, MD on November 07, 2023 Written by WebMD Editorial Contributor, Jennifer Walker-Journey
Shoulder Elbow. 2017 Apr; 9(2): 75–84. Published online 2016 Nov 7. doi: 10.1177/1758573216676786