อาการปวดไหล่ เป็นอาการที่นำไปสู่โรคได้หลากหลาย ซึ่งต้องมีการประเมินอาการเพื่อหาสาเหตุและตัวโรคที่ชัดเจน เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม โดย 2 โรคที่พบในอาการปวดไหล่นอกจากโรคไหล่ติด คือ
1. ภาวะกระดูกทับเส้นเอ็น (Shoulder Impingement Syndrome : SIS ) หรือ Painful Arc Syndrome เป็นภาวะที่จะมีอาการปวดไหล่ทางด้านหน้า เกิดจากการที่กระดูกบริเวณ Coracoacromial Arch และส่วนหัวของกระดูกต้นแขนเกิดการเสียดสีกัน ทำให้เกิดการกดเบียดเส้นเอ็นข้อไหล่ (Rotator Cuff) ส่งผลให้เกิดการอักเสบและบาดเจ็บตามมา โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะดังนี้
ระยะ 1 เส้นเอ็นกล้ามเนื้อ Supraspinatus เกิดการบวมและมีเลือดออกภายใน
ระยะ 2 เกิดผังผืด (Fibrosis) และเกิดการหนาตัวขึ้นของเอ็นข้อไหล่ Coracoacromial Ligament
ระยะ 3 เกิดการฉีกขาดของเอ็นกล้ามเนื้อข้อไหล่กลุ่ม Rotator Cuff
ส่วนมากมีสาเหตุจากการ ใช้งานข้อไหล่หนักเกินไป หรือทำกิจกรรมที่มีการขยับข้อไหล่ซ้ำๆ นานๆ หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของกระดูกบริเวณข้อไหล่ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะ Shoulder Impingement Syndrome ได้
อาการที่พบบ่อย
1. ปวดไหล่ด้านหน้าและด้านข้างแบบเป็นๆ หายๆ หรือค่อยๆ ปวดเพิ่มมากขึ้น
2. ปวดมากเวลากลางคืน
3. นอนตะแคงทับข้างที่ปวดไม่ได้
4. อาการปวดไหล่รบกวนการทำกิจกรรมหรือการใช้ชีวิตประจำวัน ยกแขนได้ไม่สุด อาจมีอาการแขนอ่อนแรงเนื่องจากอาการปวดทำให้ขยับแขนได้ลดลงตามไปด้วย
ในการตรวจวินิจฉัยจะมีการซักประวัติเกี่ยวกับอาการปวด กิจกรรมที่ทำ สาเหตุ และท่าทางต่างๆ ร่วมกับข้อบ่งชี้อื่นๆหรืออุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้น รวมถึงมีการตรวจร่างกายโดยการทำท่าทดสอบเฉพาะต่างๆ เพื่อยืนยันว่ามีภาวะ ShoulderImpingement Syndrome ร่วมกับการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์วินิจฉัย ทำให้สามารถเห็นความผิดปกติของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อ และข้อต่อได้อย่างละเอียดและชัดเจนมากขึ้น
2. ถุงน้ำบริเวณข้อไหล่อักเสบ หรือ Subacromial bursitis เป็นการอักเสบของถุงน้ำ (Bursa) ที่อยู่ระหว่างกระดูก Acromionกับกล้ามเนื้อ Supraspinatus อาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ หรือ การใช้งานไหล่ในลักษณะซ้ำๆ ซึ่งมักจะมีอาการควบคู่กับเส้นข้อไหล่เอ็นอักเสบ
โดยส่วนมากมักจะพบอาการปวดไหล่และบวมชัดเจน ที่บริเวณผิวอาจมีอุณหภูมิอุ่น ร้อน หรือแดงได้ ยกแขนขึ้นหวีผมไม่ได้ ใส่เสื้อยืดลำบาก ถ้าเอามือบีบที่หัวไหล่จะปวดมาก ส่วนใหญ่จะมีอาการปวดในเวลากลางคืน
การตรวจวินิจฉัย เนื่องจากอาการปวดไหล่เป็นได้จากหลายสาเหตุ เช่น มีการบาดเจ็บที่ตัวเส้นเอ็นกล้ามเนื้อ (Tendoninjury), เส้นเอ็นยึดข้อต่อ (Ligament injury), ถุงน้ำอักเสบ (Bursitis) หรืออาจจะเป็นที่ตัวข้อไหล่ การตรวจวินิจฉัยด้วย เครื่องอัลตราซาวด์(Musculoskeletal Ultrasounds) จะสามารถทำให้มองเห็นสาเหตุได้ชัดเจน โดยสแกนเครื่องอัลตราซาวด์ผ่านผิวหนัง
ลงไปบริเวณถุงน้ำที่มีการอักเสบ เพื่อช่วยให้วินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากสามารถเห็นส่วนประกอบที่อยู่ด้านในข้อไหล่ที่มีการบาดเจ็บหรืออักเสบได้ โดยภาพที่แสดงภาวะอักเสบ จะพบของเหลวในถุงน้ำมีปริมาณมากเกินกว่าปกติ หรืออาจพบการหนาตัวของผนังถุงน้ำได้
อาการปวดไหล่แม้เพียงเล็กน้อย สามารถนำไปสู่โรคที่รุนแรงได้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการและรับการรักษาอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันไม่ให้ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น