ปัญหาหลักของคนที่ขับรถยนต์คือ อาการปวดหลัง เส้นทางที่ยาวไกลนั้นไม่ใช่อุปสรรค แต่คือความเมื่อยล้านี่แหละที่ทำให้หลายคนเบื่อหน่ายกับการขับรถทางไกล แล้วยิ่งใครที่ใช้รถมากๆ ขับบ่อยๆอาจจะยิ่งปวดเมื่อยมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะร่างกายนั้นไม่ชอบที่จะอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ และถ้าเป็นท่าทางที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของร่างกายก็ยิ่งไม่ดีเข้าไปอีก เช่น ก้มหน้ามากไป หลังงอมากไป เป็นต้น อีกทั้งการใช้สายตาจนเกิดความเมื่อยล้า มันจะค่อยๆ สะสมความเครียดและมีผลต่ออาการเกร็งกล้ามเนื้อด้วย ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้เกิดขึ้นในระหว่างการขับรถทั้งหมดเลย ดังนั้นเราจึงต้องเริ่มแก้ที่ปรับท่าทางของร่างกายให้ถูกต้องเสียก่อน
เมื่อเราต้องขับรถ บนรถจะมีอุปกรณ์หลายอย่างที่สามารถปรับได้ เช่น กระจกมองข้าง กระจกส่องหลัง เบาะและพวงมาลัย อุปกรณ์เหล่านี้อาจไม่ต้องมีการปรับบ่อยหากรถนั้นใช้เพียงคนเดียว แต่อย่างไรก็ตามควรปรับให้เหมาะสมและตรวจดูความเหมาะสมของอุปกรณ์เหล่านี้ทุกครั้งก่อนขับรถ โดยอาศัยหลักการดังต่อไปนี้
1. ปรับระยะนั่ง
- ดึงก้นให้ชิดกับเบาะ แผ่นหลังแนบชิดกับพนักพิง
- ช่วงคอตรง ทำมุมประมาณ 15 องศากับระดับของพนักพิง
- แขนและไหล่ทิ้งลงแบบสบายๆ เมื่อจับพวงมาลัยช่วงแขนจะทำมุม 90-115 องศา ไม่ควรเกินกว่า 120 องศา ถือเอาความถนัดเป็นเกณฑ์
- เลื่อนเบาะจนทำให้เข่างอขึ้นแต่ไม่ได้งอมากเกินไป เพราะการงอมากของเข่าและสะโพกจะทำให้กระดกข้อเท้าได้ลำบากทำให้ต้องยกขาเมื่อต้องขยับเท้าไปมา ขณะเดียวกันการเหยียดขามากไปจะทำให้ตัวและขาอยู่ในรูปคล้ายตัวแอล ซึ่งมีผลต่อการเหยียบเบรกและคันเร่งเช่นกัน คือแรงจะลดลง เพราะสามารถใช้ปลายเท้าเหยียบได้เท่านั้น ไม่สามารถใช้แรงจากเข่าและสะโพกได้
2. การปรับความเอียงของเบาะพิงหลัง
- เมื่อปรับขาให้พอดี ตัวอาจจะห่างไป ทำให้ต้องปรับเบาะพิงชันขึ้นมา แต่การปรับเบาะชันขึ้นมาอาจมีผลทำให้หลังและขาเป็นรูปคล้ายตัวแอลดังข้อ 1 แต่ก็มีข้อดีเมื่อตัวตั้งตรงคือ ทำให้ไม่ต้องงอคอมากนัก บ่าและคอจึงไม่เมื่อย
- ความเอียงของเบาะควรอยู่ในระดับที่เมื่อขับรถแล้ว ไม่มีความรู้สึกว่าต้องใช้แรงในการยกคอและศีรษะขึ้นมาตั้งตรง
- ปรับส่วนรองรับโค้งของหลังให้รู้สึกว่ามีแรงกดเท่ากันตลอดของหลังส่วนล่าง(ถ้าไม่มีส่วนนี้อาจใช้หมอนเล็กหนุนหลังส่วนล่างแทนได้)
3. ปรับความสูงต่ำของเบาะ
- ปรับให้ระยะห่างศีรษะกับเพดานรถเท่ากับหนึ่งกำปั้น แค่นี้คุณก็จะไม่ปวดหลัง และมองเห็นทัศนวิสัยได้ดีอีกด้วย
4. ปรับมุมของพวงมาลัย
- พวงมาลัยที่ตั้งมุมสูงกว่าธรรมชาติของร่างกาย จะทำให้เราเกร็งช่วงคอ บ่าและไหล่ แถมยังทำให้บังคับรถได้ไม่สะดวก ต้องเอื้อม ต้องขยับในบางจังหวะ
- ให้ปรับพวงมาลัยให้อยู่ในตำแหน่งที่เราจะถือพวงมาลัยได้ด้วยความรู้สึกสบายในช่วงเวลานาน การปรับตำแหน่งพวงมาลัยให้วางมือที่ตำแหน่ง 3 และ 9 นาฬิกา
- ระยะและระดับที่เหมาะสมคือ ระยะที่เมื่อวางมือแล้ว สามารถหมุนพวงมาลัยได้คล่อง ไม่มีการติดขัดหรือมีความรู้สึกว่าต้องเอื้อม ขณะเดียว กัน กล้ามเนื้อบ่าและไหล่ต้องไม่เกร็งเพื่อที่จะถือแขนให้อยู่กับพวงมาลัยนานๆ
5. ปรับกระจกข้างและกระจกหลัง
- การปรับโดยยึดหลักการที่ว่า เมื่อนั่งโดยไม่ต้องขยับศีรษะหรือโยกตัว เราก็สามารถมองเห็นในจุดที่เราต้องการได้
6. หมอนรองคอ
- เมื่อพิงหลังไปกับเบาะนั่งเต็มที่แล้ว ศีรษะด้านหลังสัมผัสกับเบาะพิงศีรษะ นั่นแสดงว่า ได้ปรับตำแหน่งเบาะเหมาะสมและปลอดภัยแล้ว
- ถ้าพิงลงไปแล้วเบาะพิงศีรษะมารับท้ายทอยอย่างสบาย แสดงว่าปรับเบาะต่ำเกินไป ดังนั้น เพื่อใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ให้คุ้มกับวัตถุประสงค์ที่แท้จริง จึงควรปรับเบาะนั่งให้ที่พิงศีรษะรองรับในส่วนกะโหลกศีรษะ ไม่ใช่ท้ายทอย
หลักการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ต้องอยู่ภายใต้คำว่า ความปลอดภัยในการขับขี่ด้วย หากปรับให้สบายตัว แต่ไม่ปลอดภัยก็ไม่ถือว่าเป็นการปรับที่ดี ทั้งนี้ขอให้ปรับเมื่อ รถอยู่นิ่ง ไม่ควรปรับเมื่อรถวิ่งอยู่ โดยเฉพาะการเลื่อนเบาะและปรับมุมพนักพิง ที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อการขับขี่ได้ และดังที่กล่าวไว้ว่าร่างกายไม่ชอบอยู่ในท่าทางที่นานๆ แม้ว่าท่านจะได้ท่านั่งที่ดีและเบาะนั่งที่เหมาะกับตัวท่านแล้ว ร่างกายยังต้องการการปรับเปลี่ยนอิริยาบถ
ดังนั้น ให้หยุดพักบ่อยๆ เมื่อขับรถทางไกล ให้ลงจากรถมายืดเส้นยืดสาย ล้างหน้า จะได้หายจากความเมื่อยล้า และความเครียด หากทำได้เช่นนี้ท่านจะมีความสนุกกับการขับรถ
สอบถามเพิ่มเติมที่ "รีแฮป แคร์ คลินิก"
ที่อยู่ : 423 ถนนเพชรเกษม แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กทม. (อยู่ในศูนย์กีฬากันอริ ก่อนถึงซีคอนบางแค) ? 061-801-2482 Line ID : @rehabcare