อาการปวดข้อมือในคุณแม่หลังคลอด มักพบได้บ่อยกับคุณแม่ที่เลี้ยงลูกตั้งแต่ช่วงหลังคลอดจนถึงช่วงวัยก่อนลูกน้อยเดินได้ ซึ่งเป็นช่วงที่คุณแม่ต้องอุ้มลูกเป็นเวลานาน จนทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณข้อมือ หรือที่เราเรียกกันว่า “โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain’s disease / โรคเดอกาแวง)” โดยจะมีอาการปวดบริเวณข้อมือและโคนนิ้วหัวแม่มือ และอาจจะมีปวดไปบริเวณแขนท่อนปลายได้ ซึ่งสาเหตุเกิดจากการใช้งานข้อมือหรือนิ้วหัวแม่มือลักษณะเดิมซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานจนเกิดการอักเสบขึ้น และหากยิ่งมีการใช้งานอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้มีอาการปวดเพิ่มมากขึ้นได้
ท่าอุ้มลูกแบบไหนเสี่ยงต่อการเป็นเดอกาแวง และท่าอุ้มไหนปลอดภัยสำหรับคุณแม่
ท่าที่ส่งเสริมให้คุณแม่มีอาการบาดเจ็บของข้อมือ หรือเสี่ยงต่อการเป็นเดอกาแวง คือ คุณแม่ที่อุ้มลูกด้วยการใช้ร่องระหว่างนิ้วชี้กับนิ้วโป้งสอดช้อนใต้รักแร้ลูกและอุ้มขึ้นมา เมื่อทำซ้ำๆ หรือน้ำหนักลูกน้อยที่เพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้เส้นเอ็นข้อมือเกิดการอักเสบได้ วิธีที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บข้อมือน้อยที่สุดคือ ท่าหงายมือช้อนก้นในท่าที่ลูกกำลังนอนหงายและใช้ท่อนแขนสอดประคองหลังและศีรษะขึ้นมา ท่านี้จะช่วยลดการใช้งานบริเวณเส้นเอ็นข้อมือ จึงเป็นการถนอมข้อมือสำหรับคุณแม่ได้
วิธีทดสอบด้วยตัวเองง่ายๆ ว่าเป็นเดอกาแวงหรือไม่ แค่ 2 ขั้นตอน เรียกว่า Finkelstein’s test
1.ยื่นแขนออกมา จากนั้นให้กำมือโดยงอนิ้วหัวแม่มือในอุ้งมือ
2.กระดกข้อมือลงไปด้านนิ้วก้อย
หากมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วโป้งจะถือว่าผลทดสอบเป็นบวก (positive) บ่งบอกว่ามีอาการของปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบหรือเดอกาแวง
ในกรณีที่ตรวจด้วย Finkelstein’s test แล้วพบผลเป็นบวก หรือไม่มั่นใจว่าผลการตรวจเป็นอย่างไร แนะนำตรวจประเมินกับแพทย์เฉพาะทางเพิ่มเติม โดยที่รีแฮปแคร์คลินิกมีแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่มีความเชี่ยวชาญ สามารถใช้เครื่องอัลตราซาวด์ในการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติได้
ภาพแสดง การตรวจพบปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain’s disease) ด้วยอัลตราซาวด์วินิจฉัย
อ้างอิง : Corvino A, Lonardo V, Corvino F, Tafuri D, Pizzi AD, Cocco G. “ Daddy wrist”: A high-resolution ultrasound diagnosis of de Quervain tenosynovitis. J Clin Ultrasound. 2023; 51(5): 845-847.
เมื่อเป็น ปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain’s disease) แล้ว ต้องทำอย่างไร?
แม้จะมีอาการปวดมากเพียงใดแต่ในคุณแม่ที่ให้นมลูก จะไม่สามารถทานยาได้ ซึ่งท่าทางและกิจกรรมที่ต้องเลี้ยงลูก ส่งผลกระทบและกระตุ้นให้เกิดการอักเสบซ้ำๆ และมีอาการปวดตามมาอยู่เสมอ หากปล่อยให้มีอาการเจ็บปวดอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้รับการดูแลและรักษาให้หาย อาการปวดนี้อาจทำให้กลายเป็นภาวะเรื้อรังได้ ดังนั้นรีแฮปแคร์คลินิกจึงมาแนะนำวิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้น และการรักษาแบบไม่ใช้ยา ที่จะทำให้คุณแม่ ดูแลลูกน้อยได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีอาการปวดมารบกวนใจ
การดูแลอาการปวดเบื้องต้น
1. การพักการใช้งานหรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำแล้วมีอาการปวด
2. การใส่อุปกรณ์ประคองข้อมือ (Wrist-thumb splint) เพื่อลดการเคลื่อนไหวและจำกัดการทำงานของข้อมือ
3. การประคบอุ่นหรือประคบเย็น
3.1 ประคบเย็น/แช่น้ำเย็น ในกรณีหลังจากใช้งานซ้ำๆ มาในทันที หรือมีอาการปวดร่วมกับ บวม แดง ร้อน เพื่อลดการอักเสบจากการใช้งานบริเวณมือและข้อมือ
3.2 ประคบอุ่น/แช่น้ำอุ่น ในกรณีมีการบาดเจ็บเรื้อรัง มีอาการปวดตึง เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว และมีการไหลเวียนโลหิตดีขึ้น
การรักษาทางการแพทย์
การฉีดยา แนะนำทำในกรณที่ปวดมาก ต้องการให้หายเร็ว หรือไม่ตอบสนองต่อการทำกายภาพบำบัด ซึ่งควรฉีดยาโดยแพทย์เฉพาะทาง และใช้อัลตราซาวด์นำวิถีฉีดเพื่อเพิ่มความปลอดภัย มีความแม่นยำ และเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้สูงขึ้น ทำได้ 2 วิธี ดังนี้
1. การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น (platelet rich plasma /PRP injection) คือ การฉีดเกล็ดเลือดความเข้มข้นสูง โดยนำเลือดของตนเองมาสกัดเอาสารที่มีฤทธิ์ซ่อมแซมและลดการอักเสบและฉีดกลับเข้าไปบริเวณที่มีการบาดเจ็บ เพื่อเร่งกระบวนการซ่อมแซม จึงทำให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นสามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ทำให้อาการปวดลดลง โดยปกติมักเห็นผลดีขึ้นตั้งแต่เข็มแรกของการฉีด ข้อดี คือ มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง แต่มีราคาสูงกว่าการฉีดยาอื่น
2. การฉีดสเตียรอยด์ (steroid injection) เป็นการฉีดเพื่อลดการอักเสบและลดปวด ข้อดี คือ เห็นผลเร็วเพราะยามีฤทธิ์แก้ปวดสูง ราคาต่ำกว่า PRP ส่วนข้อเสีย คือ อาจส่งผลในระยะยาวทำให้ไม่เกิดการซ่อมแซมและฟื้นฟูของเส้นเอ็นถ้าไม่พักการใช้งาน ซึ่งแตกต่างจาก PRP ไม่สามารถรฉีดเกิน 2-3 ครั้งต่อปีหรือติดต่อกัน และอันตรายกว่า PRP เพราะถ้าฉีดโดนเส้นเอ็นอาจส่งผลให้เส้นเอ็นอ่อนแอและมีโอกาสขาดได้
ภาพแสดง เข็มฉีดยาขณะฉีดบริเวณปลอกหุ้มเอ็น ด้วยการใช้เครื่องอัลตราซาวด์นำวิถี
อ้างอิง : Corvino A, Lonardo V, Corvino F, Tafuri D, Pizzi AD, Cocco G. “ Daddy wrist”: A high-resolution ultrasound diagnosis of de Quervain tenosynovitis. J Clin Ultrasound. 2023; 51(5): 845-847
การรักษาทางกายภาพบำบัด เพื่อลดอาการปวด
การทำกายภาพบำบัดด้วยเครื่องมือเพื่อลดอาการปวด ดังนี้
1. Focus Shockwave หรือคลื่นกระแทก ใช้ที่บริเวณเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณข้อมือเพื่อลดอาการปวดและเร่งการซ่อมแซมตัวเอง นอกจากนี้ยังสามารถใช้ที่บริเวณกล้ามเนื้อปลายแขนที่มีอาการปวดและตึงตัวร่วมด้วย เพื่อให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
2. High Power Laser หรือเลเซอร์พลังงานสูง เป็นพลังงานแสงความเข้มข้นสูงความยาวคลื่น 1064 ที่ลงลึกถึงเส้นเอ็นใช้บริเวณที่มีอาการปวดจากการอักเสบเพื่อเติมพลังงาน เร่งการซ่อมแซมตัวเอง และลดการอักเสบได้อย่างรวดเร็ว
3. Ultrasound เป็นคลื่นเสียงความถี่สูง โดยมีผลของความร้อนที่ช่วยเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด ใช้ทั้งบริเวณกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่บาดเจ็บ
4. TENS หรือเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ใช้ผ่อนคลายตรงบริเวณที่มีอาการปวด เพื่อลดอาการปวดและคลายกล้ามเนื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. Hot Pack หรือประคบอุ่น ใช้ตรงบริเวณกล้ามเนื้อปลายแขนที่มีอาการตึงตัวได้
6. โปรแกรมการออกกำลังกาย
ท่าออกกำลังกาย ป้องกันโรคเดอกาแวง
1.ท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้องอนิ้วโป้ง : หงายมือ จากนั้นใช้มืออีกข้างดึงยืดนิ้วโป้งจนรู้สึกตึงบริเวณนิ้วโป้ง ค้างไว้ 10 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง
2.ท่ายืดกล้ามเนื้อแขนด้านใน : เหยียดศอกในลักษณะหงายมือ แล้วดึงยืดฝ่ามือลงให้รู้สึกตึงกล้ามเนื้อแขนด้านใน ค้างไว้ 10 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง
3.ท่ายืดกล้ามเนื้อแขนด้านนอก : เหยียดศอกในลักษณะคว่ำมือ แล้วดึงยืดหลังมือลงให้รู้สึกตึงกล้ามเนื้อแขนด้านนอก ค้างไว้ 10 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง
4.ท่าเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อแขน : หงายมือ กำมือ แล้วค่อยๆ กระดกข้อมือขึ้น ค้างไว้ 5 วินาทีแล้วค่อยกลับไปตำแหน่งเดิม ทำซ้ำ 10 ครั้ง เพิ่มความยากด้วยการใส่น้ำหนักถ่วง
5.ท่าเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อแขน : คว่ำมือลง แล้วกำมือ หลังจากนั้นค่อยๆ กระดกข้อมือขึ้น ค้างไว้ 5 วินาทีแล้วกลับไปตำแหน่งเดิม ทำซ้ำ 10 ครั้ง เพิ่มความยากด้วยการใส่น้ำหนักถ่วง
6.ท่าเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อนิ้วมือ : ใช้ยางยืดวงใหญ่ใส่ที่รอบนอกของนิ้วมือ จากนั้น กางและหุบนิ้วมือต้านแรงยางยืด ทำซ้ำ 10 ครั้ง
หากคุณแม่มือใหม่ท่านไหนกำลังประสบปัญหาปวดข้อมือ หรือมีภาวะปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบอยู่ และมีข้อจำกัดในการรับประทานยาจากการให้นมลูก ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเพื่อประเมินอาการและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดการอักเสบมากขึ้นและกลายเป็นภาวะปวดเรื้อรังจนต้องผ่าตัด